Brand storytelling | Claim Di


ตอนที่ 1 เมื่อโลกไม่มีฮีโร่ตัวจริง

ภาพยนตร์เรื่อง Star Trek เป็นแรงบันดาลใจให้คนมามากมายมาแล้วทั่วโลก รวมถึงชายที่ชื่อ “กิตตินันท์ อนุพันธ์” ด้วย ในวันหนึ่งขณะที่เขากำลังนั่งคิดคำนวณตัวเลขรายรับรายจ่ายของธุรกิจส่วนตัวที่เขาทำในขณะที่เขาก็ยังไม่ละทิ้งจากการประจำที่ทำอยู่กับอีกบริษัทหนึ่งไปด้วยนั้น เขาก็ได้ยินเสียงผู้ประกาศข่าวจากทีวีกำลังบอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ เขาละมือจากภารกิจที่ทำ เพราะเขารู้ว่าจะคิดอีกกี่รอบตัวเลขมันก็ไม่เพิ่มขึ้น เขาอาจจะต้องจบภารกิจด้านการเป็นเถ้าแก่ธุรกิจส่วนตัวเสียที เพราะเศรษฐกิจไม่ดี กิจการจึงไปได้ไม่ค่อยสวยนัก ซึ่งเขาก็ยังไม่หนักใจมากนักเพราะยังคงมีงานประจำเป็นสิ่งที่ช่วยค้ำยังชีวิตเขาอยู่

 

เขาเดินไปเร่งเสียงทีวีให้ดังขึ้นและก็ใจจดจ่ออยู่กับข่าวอุบัติเหตุรถยนต์ครั้งใหญ่นั้นที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เขาเริ่มรู้สึกสงสารผู้เสียชีวิตและเห็นใจญาติๆของผู้ประสบเหตุ สลดสังเวชใจและในใจลึกๆไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเลย เขาเริ่มอินไปกับเรื่องนี้ จนเริ่มฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ เขาเริ่มอยากรู้ว่าในแต่ละวัน แต่ละเดือนและแต่ละปีมีคนเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์เป็นจำนวนเท่าไหร่ เริ่มค้นคว้าหาข้อมูลในประเทศไทย ไปจนถึงสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่รวมกันทั้งโลก เมื่อเขาเห็นตัวเลขที่ปรากฎขึ้นจากข้อมูลเขาก็ไม่รู้สึกแปลกใจเท่าไหร่ เพราะคิดว่ามันน่าจะเยอะอยู่แล้ว แต่ปรากฎว่าข้อมูลที่ทำให้เขาประหลาดใจและกลายเป็นแรงบันดาลใจในเวลาต่อมาให้กับเขาก็คือ จำนวนคนที่ต้องเป็นคนทุพพลภาพจากอุบัติเหตุนั้นมีจำนวนมากกว่า 50 ล้านคน/ปี เหตุเกิดจากการที่ได้รับการช่วยเหลือช้ากว่าที่ควรจะเป็น กิตตินันท์เริ่มสงสัยและตั้งคำถามกับตัวเอง “เราพอจะทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง” แล้วอะไรล่ะจะทำให้เราสามารถถึงที่เกิดเหตุและเข้าช่วยเหลือได้เร็วกว่านี้

 

เขาคิดไปถึงว่าถ้าโลกเรามี “Superman” และเหล่า Super Hero จริงๆขึ้นมาก็ดี เพราะ Super Hero เหล่านี้สามารถถึงที่เกิดเหตุได้เร็วกว่าจรวด เร็วกว่าเครื่องบิน เร็วกว่ากระสุนปืนเสียอีก หากจะเกิดเหตุไม่ดีหรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ขึ้น Super Hero เหล่านี้ก็จะเป็นถึงที่เกิดเหตุได้ทันและช่วยชีวิตผู้คนไม่ให้ต้องบาดเจ็บได้แน่ๆคนทุกชาติทุกภาษาแม้จะแตกต่าง แต่พวกเขาก็ล้วนมีฮีโร่ในแบบฉบับของพวกเขา แม้กระทั่งไทยเรายังมี “อินทรีแดง” แต่ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่มีฮีโร่แบบนั้น

ฉะนั้น เขาจะต้องสร้างฮีโร่ขึ้นมาเอง ซึ่งเขามองว่า “เทคโนโลยี” นี่แหละจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เขาสร้างฮีโร่ตัวจริงขึ้นมาได้ โดยเฉพาะ Mobile Technology ที่เขาเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนโลกในอนาคตในไม่ช้า ซึ่งขณะนั้นก็อยู่ในปี 2000 ความสามารถของโทรศัพท์มือถือก็เริ่มทำอะไรได้หลายอย่างมากขึ้นเหมือนที่เคยเห็นในภาพยนตร์ ทำให้เขารู้สึกว่า

เทคโนโลยีไม่ใช่แค่เรื่องฝัน แต่มันเป็นจริงได้

และถ้าเขานำมันมาใช้สร้างแบรนด์ธุรกิจและทำรายได้ให้กับเขาได้ เขาก็จะมีธุรกิจที่น่าสนใจสามารถช่วยเหลือคนให้รอดพ้นจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ โดยไปถึงที่เกิดเหตุให้เร็วขึ้น เพิ่มเวลาในการช่วยเหลือชีวิต ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังจะทำให้โลกกลายเป็นเหมือนในหนัง Star Trek เหมือนที่เขาดูในตอนเด็กๆ

เมื่อความคิดของกิตตินันท์ผุดขึ้นรวดเร็วแบบนั้น เขาจึงไม่รอช้าลงมือทำสิ่งที่ทันทีอย่างแรกยื่นใบลาออกจากงานประจำ ถัดมายืมเงินคุณพ่อตัวเอง 600,000 บาท เพื่อจัดตั้งธุรกิจโดยสัญญาว่าจะใช้หนี้คืนภายใน 2 ปี

ตอนที่ 2 อรุณสวัสดิ์กับโลกยุคดอทคอม

เงิน 600,000 บาท ที่ยืมมาจากคุณพ่อนั้น ก็นำมาซึ่งบริษัท อรุณสวัสดิ์ ดอทคอม จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2543 ในรูปแบบองค์กรธุรกิจ SME ซึ่งเป็นบริษัทที่กิตตินันท์ตั้งใจไว้ว่าจะใช้เป็นฐานบัญชาการในการสร้างซอฟต์แวร์รองรับระบบฉุกเฉินต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับการบริหารจัดการเข้าถึงที่เกิดเหตุล่าช้า โดยเขาเริ่มคิดและพัฒนาระบบที่เรียกว่า Anywhere to Claim และ Anywhere to ER(Emergency)ขึ้นมา แต่เงินทุนไม่พอและต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะพัฒนาเสร็จ  และสิ่งที่ยากที่สุดคือ วันนั้นไม่มีบริษัทประกันภัยไหนเข้าใจเขา และเห็นว่าระบบที่เขากำลังทำนั้น มันไม่มีประโยชน์เลย ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ เนื่องจากวันนั้นยังไม่มีใครขาดถึงว่าความสามารถของโทรศัพท์มือถือจะมีมากมายเช่นทุกวันนี้ กิตตินันท์จึงหันไปพัฒนาแอปพลิเคชัน ที่สามารถเลี้ยงบริษัทให้อยู่ต่อได้ เช่น Anywhere to Sales/Field ซึ่งสามารถขายได้เงินทำให้เขามีเงินมาจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานในบริษัทได้

ผลิตภัณฑ์แรกที่กิตตินันท์พัฒนาภายในบริษัททำให้เขาได้เงินมาหล่อเลี้ยงธุรกิจส่วนตัวของเขาพร้อมพนักงานเพียง 5 คน ก็คือ Anywhere to Sales แอปพลิเคชันบน Palm OS เป็นแอปพลิเคชันคำนวณเบี้ยประกันภัยรถยนต์หรือแอปพลิเคชันขายเบี้ยประกันภัยรถยนต์ โดยมีลูกค้าเป็นบริษัทประกันภัยและมีลูกค้ารายแรกและรายเดียวในขณะนั้น คือ ทิพยประกันภัย

เมื่อขายแอปประกันภัยได้แล้ว เขาหันไปทำแอปฯ Anywhere to Field ระบบจดหน่วยน้ำประปาด้วย Mobile ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเกษตรและปศุสัตว์ได้ และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ก็ได้นำระบบนี้ไปทดลองใช้กับการเลี้ยงกุ้ง ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือช่วยให้ ทาง CP สามารถรู้อายุกุ้งแต่ละบ่อได้ สามารถรู้ได้ว่ากุ้งเติบโตบ่อไหน กุ้งบ่อไหนตายแล้วมีกุ้งดำ กุ้งแดง กุ้งขาวจำนวนเท่าไหร่ รู้ว่าจะต้องสต็อกอาหารเบอร์นี้ไว้เท่าไหร่ที่พื้นที่ไหนเวลาไหน ทำให้สามารถวางแผนระบบขนส่งได้มีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากเทคโนโลยีในตอนนั้นยังไม่มา ความเร็วและการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้มีอุปสรรคกับการเดินหน้าต่อพอสมควร

หลังจากที่มีรายได้มากขึ้น กิตตินันท์ก็กลับมาพัฒนาระบบที่ตั้งใจไว้แต่แรกตามปณิธาน นั่นคือ สร้างแอปฯเพื่อขายให้กับธุรกิจประกันภัย โดยหากเกิดอุบัติเหตุรถชน พนักงาน Call Center ก็จะใช้ Anywhere to Claim ในการค้นหาพนักงานสำรวจภัยของธุรกิจประกันภัยเพื่อไปให้ถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด ทุกอย่างทำงานผ่านระบบแอปฯบนมือถือ เท่านั้นยังไม่พอยังทำแอปพลิเคชัน Anywhere to ER ให้กับห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลด้วย แต่ทว่าการพัฒนาแอปพลิเคชันทั้ง 2 อย่างนี้ต้องใช้ทุนไม่น้อย ก็พอดีว่า ช่วงปี 2546 ภาครัฐเกิดไอเดียตั้งกองทุนรวมเพื่อร่วมลงทุนในรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บริหารงานโดย บลจ.วรรณ ได้เงินจากกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ 1,500 ล้านบาทมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่น่าสนใจ กิตตินันท์มองว่านี่คือโอกาสจึง นำโครงการ Anywhere to Claim เข้าไปเสนอเพื่อขอเงินลงทุน แต่เนื่องจากบริษัทมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จึงได้อนุมัติเงินลงทุนเพียง 1 ล้าน ในความคิดของเขามองว่าไม่เพียงพอต่อการทำงาน อย่างไรก็ดี แม้จะเริ่มต้นด้วยเงินทุนที่ไม่เป็นดังหวังแต่ทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากมายในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับธุรกิจร่วมลงทุน(Venture Capital) ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี

แม้กิตตินันท์จะรู้สึกไม่ค่อยพอใจกับทุนที่ได้รับมานัก เพราะมันน้อยเกินไป แต่ก็ไม่มีเวลาให้เขามานั่งโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงกับใคร เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมา เขาจึงเดินหน้าต่อด้วยการพัฒนาแอปฯทั้ง 2 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะแอปพลิเคชันสำหรับธุรกิจประกันภัย โดยระบบที่ถือได้ว่าสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับวงการ ก็คือ ค้นหาจุดเกิดเหตุได้ภายใน 20 วินาที เจ้าหน้าที่ไปถึงจุดเกิดเหตุภายใน 8 นาที และรถสามารถซ่อมเสร็จภายในวันเดียว ความโดดเด่นนี้ทำให้ บมจ.แอลเอ็มจี ประกันภัย ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำในธุรกิจประกันติดท็อป 5 ในระดับโลก ยังต้องซื้อระบบนี้ไปใช้ในปี 2548

ด้านแอปพลิเคชันสำหรับธุรกิจประกันภัยกำลังไปได้ดี แต่ด้านแอปพลิเคชันสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลยังไม่คืบหน้าไปไหนเนื่องจาก บริษัท อรุณสวัสดิ์ ดอทคอม จำกัด ของกิตตินันท์เป็นเพียง SME มีพนักงานแค่สิบกว่าคน นับเป็นอุปสรรคชิ้นโตต่อการขาย เช่น กว่าที่โรงพยาบาลกรุงเทพจะตัดสินใจซื้อซอฟต์แวร์ ต้องเจอกับคำถามหรือข้อกังวลจากผู้บริหารระดับสูงว่าบริษัทที่ไม่มีใครรู้จักอย่างอรุณสวัสดิ์ ดอทคอมเป็นใคร มาจากไหน เหตุใดจึงทำ แอปพลิเคชันรูปแบบนี้ได้ ขณะที่บริษัทใหญ่ๆทำไม่ได้ เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาจะทำอย่างไร ในเมื่อมีกำลังคนเพียงแค่นี้

คำถามเหล่านี้ สะท้อนถึงความไว้วางใจที่มีต่อตัวกิตตินันท์และผลงานของเขา แต่สารพันความคลางแคลงใจเหล่านี้แม้เป็นอุปสรรคใหญ่ แต่ไม่อาจทำให้เขาละความพยายามในการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานให้กับลูกค้า ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานับเป็นความสำเร็จอีกขั้นเมื่อปี 2551 โรงพยาบาลกรุงเทพไว้วางใจผลงานของเขา ได้ลองนำแอปพลิเคชันที่เขาพัฒนาไปลองใช้งาน และรู้สึกว่ามันทำงานได้ดีเกินคาด และนั่นทำให้ชื่อของ กิตตินันท์ อนุพันธ์ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการธุรกิจ และเกิดความไว้วางใจจากลูกค้ามีมากมายมาย

ตอนที่ 3 มาเร็ว เคลมเร็ว และจบเร็ว

กิตตินันท์ อนุพันธ์ ได้เขย่าวงการด้วยธุรกิจที่น่าสนใจ ภายใต้แนวคิดช่วยชีวิตคนให้ได้ หลังจากนั้นไม่นานแอลเอ็มจีประกันภัยก็ได้มาซื้อแอปฯประกันภัยจากกิตตินันท์ไป ยิ่งทำให้บริษัทธุรกิจประกันภัยหลายแห่งจับตาอย่างใกล้ชิด และพอปี 2553 แอลเอ็มจีประสบความสำเร็จจากการใช้งานแอปฯของกิตตินันท์ ช่วงเวลานั้นจึงเกิดการโฆษณาชุด “มาเร็ว เคลมเร็ว” และก็ฮิตกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ขณะเดียวกันธนาคารกรุงเทพก็ตัดสินใจซื้อระบบของเขาไปใช้งานด้วย นั่นทำให้มีลูกค้ารายอื่น ๆเริ่มเข้ามาสนใจระบบของกิตตินันท์อย่างต่อเนื่อง

ตรงนี้นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะจากเดิมลูกค้าไม่เคยเชื่อว่ามือถือจะทำงานได้ดี และครอบคลุมหลายๆ เรื่องได้เช่นนี้ แถมมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองจึงมองไม่เห็นความสำคัญ เมื่อได้ใช้ระบบของกิตตินันท์ ทุกคนเริ่มมั่นใจว่าเทคโนโลยีสามารถทำให้ธุรกิจประกันภัยทำงานง่ายและเร็วขึ้น

แต่ความสำเร็จมักเป็นดาบสองคมเสมอเพราะโลกธุรกิจมักมีคู่แข่งที่รอหยั่งเชิงรวมถึง รอจังหวะที่เหมาะสมในการลงสนามเข้าประลอง รวมถึงผู้บริโภคเองก็รอดูทีท่าอยู่เหมือนกันด้วยว่ามันจะ work จริงไหม และอย่างที่ทราบกันดีว่าโลกธุรกิจนั้นเต็มไปด้วยการแข่งขันสุดโหด เมื่อเกิดธุรกิจใหม่ร้อนแรง ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร สุดท้ายกิตตินันท์ก็หนีไม่พ้นเรื่องการถูกลอกเลียนแบบ เมื่อแนวคิดของเขาถูกคู่แข่งยักษ์ใหญ่ 2 – 3 บริษัท เข้ามาลงสนามและเสนอราคาแข่งกับเขาในราคาแบบได้เปล่า เพื่อแย่งชิงลูกค้า สถานการณ์ดังกล่าว กิตตินันท์รู้ดีว่าอีกไม่นานธุรกิจจะต้องสั่นคลอน สุดท้ายปลาใหญ่ก็กินปลาน้อยและวันนั้นก็มาถึงจริงๆ เมื่อเขาเสียลูกค้ารายแรกในปี 2554 ลูกค้ารายนี้ย้ายไปใช้บริการกับคู่แข่งของเขา องค์กรของกิตตินันท์เป็นองค์กรเล็กๆ มีกำลังเพียงหยิบมือ พนักงานทั้งหมดรวมกันไม่กี่สิบคน สถานการณ์ก็แย่พอแล้วนี่ยังถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ และมีชื่อเสียงในระดับโลกมาลอกเลียนแบบ คงไม่ต้องพูดถึงว่าบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร

ช่วงเวลานั้นกิตตินันท์ถึงกับเกิดความรู้สึกว่า

ถึงเวลาหยุดความเป็นเถ้าแก่ แล้วกับไปเป็นลูกน้องกินเงินเดือนดีกว่า

แต่สุดท้ายแล้ว กิตตินันท์ก็เลือกที่จะเดินตามฝันของตัวเองให้ดีที่สุด แม้จะต้องเจอกับอุปสรรคมากมายก็ตาม เขาจึงลุกขึ้นมาพร้อมกับบอกตัวเองว่า

“จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อหลุดออกจากเหตุการณ์แย่ๆนี้ให้ได้”

ตอนที่ 4 มีบาดแผลในชีวิต ก็ “เคลมดิ” รออะไร

วันที่กิตตินันท์ประกาศเดินหน้าต่อ เขามีลูกค้าบริษัทประกันภัยในมือ 11 บริษัท ส่วนแบ่งตลาด 40% แต่ในมิติแห่งธุรกิจแบบ SME หากต้องการที่จะอยู่รอดปลอดภัยให้ได้จริงๆ จำเป็นจะต้องมีส่วนแบ่งตลาดเต็ม 100% ดังนั้น กิตตินันท์จำเป็นที่จะต้อง

“เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง”

กิตตินันท์ยอมรับว่าความเป็น SME มันเหมือนการตีกรอบให้ตนเอง มีข้อจำกัดรอบด้าน บางครั้งแทบขยับตัวไปไหนไม่ได้ และยังต้องเผชิญอุปสรรคมากมายที่คาดไม่ถึง ซึ่งทางออกครั้งที่ผ่านมา คือ ได้รับเงินทุนจากกองทุนรวมเพื่อร่วมลงทุนในรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งนี้ก็เช่นกันเขาเลือกเดินเข้าหาธุรกิจร่วมลงทุนอีกครั้ง เพื่อนำเงินทุนมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้ดียิ่งขึ้น

“พวกเราประเมินมูลค่าธุรกิจอรุณสวัสดิ์ ดอทคอมแค่ 1 บาทเท่านั้น”

เป็นคำกล่าวของเจ้าที่หน้าที่ธุรกิจร่วมลงทุนกล่าวต่อหน้ากิตตินันท์ หลังจากได้ประชุมและตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของกิจการร่วมครึ่งปี เป็นคำกล่าวสั้นๆ ง่ายๆ แต่ทำร้ายจิตใจของกิตตินันท์ราวกับนำมีดสิบเล่มกระหน่ำแทงเข้าไปในร่างของเขาแบบนับครั้งไม่ถ้วน ประเมินธุรกิจเขาต่ำเตี้ยขนาดนี้ เสมือนมองว่าสิ่งที่เขาทำมาไม่มีค่าอะไรเลย

“คุณไม่ต้องคิดมากนะ พวกผมเข้าใจคุณ จึงตกลงกันว่าจะให้คุณกู้ 6 ล้านบาท” เจ้าหน้าที่ธุรกิจร่วมลงทุนรายเดิมยังกล่าวซ้ำมา

แม้ว่าฝ่ายธุรกิจร่วมลงทุนจะยังให้โอกาสอยู่บ้าง แต่กิตตินันท์ใจร่วงไปอยู่ตาตุ่มแล้ว เขามองว่านี่คือการประเมินที่ไม่มีความยุติธรรมเลย ความหวังเขาพังทลายลงอย่างไม่เป็นท่า และเขาก็กลับออกมาอย่างผู้บาดเจ็บโดยไม่ขอรับการช่วยเหลือหรือเยียวยาใดๆ

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะใช้เงินคนอื่นมาลงทุน”

กิตตินันท์ตระหนักในข้อนี้ดี แต่ในความดำมืดก็ยังพอมีแสงสว่างที่ปลายทางให้เขาบ้าง เมื่อเขาได้พบกับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือคนหนึ่ง มาช่วยเหลือด้วยเงินทุน 2.6 ล้าน แต่เส้นทางที่จะเดินร่วมกันนั้นมันสั้นเหลือเกิน เพราะความคิดเห็นระหว่างผู้ร่วมลงทุนกับเขาไม่ตรงกันเอาเสียเลย เขาจึง “หยุด” และ “พอ” กับการไปร่วมทำธุรกิจกับคนอื่น เขาหันมาเลือกใช้วิธีสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพแล้วรักษาทีมงานเอาไว้นานๆ

กิตตินันท์ เริ่มรู้จักกับคำว่า Startup ก็ตอนนี้ เขาได้เป็นอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดย เรืองโรจน์ พูนผล เจ้าพ่อ Startup เมืองไทย ทำให้เขาเริ่มมองเห็นแสงสว่างในธุรกิจของเอารำไรแล้ว เขาเริ่มเดินหน้าต่ออีกครั้ง รวบรวมกำลังแล้วเริ่มต้นจากการไปเปลี่ยนชื่อบริษัท เป็น Anywhere 2 go ในช่วง ๆนั้นเริ่มมีการพูดถึงการทำธุรกิจแบบ Startup กันมากขึ้น จึงทำให้มีหลายองค์กรร่วมกันจัดโครงการเพื่อส่งเสริมธุรกิจที่น่าสนใจขึ้นมาเป็น Startup มีโครงการหนึ่งที่ชื่อว่า DTAC Accelerate เกิดขึ้น กิตตินันท์ไม่รอช้า เขาผสานไอเดียที่มีคิดเป็นโปรเจกต์ Claim Di(เคลมดิ) เข้าร่วมเสนอเพื่อแข่งขันในโครงการดังกล่าว

สุดท้ายความพยายามและความเชื่อมั่นในแนวคิดของเขาก็ประสบความสำเร็จ เมื่อเรื่องโรจน์ พูนผล ซึ่งเป็นกรรมการโครงการ DTAC Accelerate ต้องการให้ Claim Di เข้ามาอยู่ในโครงการ โดยโครงการให้เงินลงทุน 1.5 ล้านบาท แต่ต้องแลกกับการเข้าถือหุ้น 7.4% ของบริษัท

ขณะนั้น Anywhere 2 go มียอดขายราวปีละ 20 ล้านบาทมา 3 – 4 ปีต่อเนื่อง แต่ DTAC Accelerate ประเมินมูลค่าธุรกิจแห่งนี้เพียง 20 ล้านบาท ทำให้กิตตินันท์เริ่มลังเลเหมือนกันว่าจะเข้าร่วมดีไหม แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเสี่ยง เพราะเขามองว่าไม่เสียหายอะไรมาก แค่เสียหุ้น 7.4%  แต่ได้DTACสนับสนุน ธุรกิจน่าจะได้ความเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเรื่องอื่น ๆ ด้วย

การตัดสินใจของกิตตินันท์ในครั้งนี้ถือว่ามาถูกทาง เพราะหลังจากที่กิตตินันท์เข้าร่วมโครงการนี้เพียงแค่ 2 เดือน ปรากฎว่าเขาสามารถระดมทุนได้มากถึง 350,000 เหรียญสหรัฐฯและยังมีที่ปรึกษา(Mentor)จากต่างประเทศมาให้คำแนะนำอย่างจริงจัง บวกกับการดูแลจากเรืองโรจน์ พูนผลอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีส่วนทำให้เขาสามารถปิดดีลลงได้สำเร็จ

วิธีคิดแบบ Startup ของผมเริ่มจากจุดนี้ ไม่ใช่แค่ก้าวไปข้างหน้าแบบเดิมๆ แต่ทำให้ผมกล้าที่จะกระโดดและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

ตอนที่ 5 บทสรุป

กิตตินันท์ อนุพันธ์-clamdiวันนี้กิตตินันท์ได้สร้าง Claim Di  ให้ประสบความสำเร็จเป็นสตาร์ทอัพชั้นนำของประเทศไทย หลังจากที่เขาต้องพบกับอุปสรรคและความระส่ำระสายมาบ่อยครั้ง แต่ด้วยความที่เขาไม่ย่อท้อ จึงทำให้ Anywhere 2 go ยืนหยัดได้อย่างดี และทำให้ Claim Di กลายเป็นระบบแอปพลิเคชันประกันภัยแถวหน้าของวงการ นอกเหนือจากธุรกิจประกันภัยแล้วยังมีลูกค้าในกลุ่มโรงพยาบาลของกรุงเทพกว่า 40 แห่ง ซึ่งเขาพัฒนาแอปฯ BES I lert u ให้บริการเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อความสะดวกในการให้บริการกับผู้ป่วยและเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยอย่างทันท่วงที โดยให้โรงพยาบาลในเครือซึ่งอยู่ใกล้บ้านผู้ป่วยที่สุดออกไปรับและทำหัตถการช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้น ก่อนทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาล

ชีวิตมันยากและมีอุปสรรคนักใช่ไหม ก็ “เคลมกับมันสักตั้งดิ” แค่คุณไม่ท้อ เชื่อสิว่า มันจะผ่านเรื่องร้าย ๆ ไปได้ ไม่วันนี้ก็วันข้างหน้า สักวันมันต้องเป็นวันของคุณ ดูอย่างคุณกิตตินันท์สิ Claim Di ไม่ใช่แค่คำเก๋ ๆ แต่มันกลายเป็นปรัชญาชีวิตและแนวคิดของธุรกิจเขาไปแล้ว และคุณเองก็ทำแบบนี้ได้เช่นกัน


ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก : minimore.com