Brand storytelling | แบรนด์รองเท้า TOMS


เบลค มายโคสกี้(Blake Mycoskie) หนุ่มนักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่มี Passion ในเรื่องของการเดินทางท่องเที่ยวและก็การเล่นกีฬาโปโล เขาเคยเดินทางไปอเมริกาใต้มาหลายครั้งแล้ว แต่มีครั้งหนึ่งที่เขาได้เดินทางไปเยือนประเทศอาร์เจนติน่า หลายอย่างที่นั่นทำให้เขาประทับใจ เขามุ่งมั่นมากว่าหากมีโอกาสก็จะกลับไปเยือนที่นั่นอีกครั้งหนึ่ง

5 ปีต่อมาหลังจากตั้งอกตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ในลอสแอนเจลิส หลายๆอย่างดำเนินไปได้ตามอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ก็ได้เวลาที่เขาจะทำตาม Passion ที่ตนเองต้องการอีกครั้ง เขาเก็บกระเป๋าเพื่ีอออกเดินทางไปยังแดนดินถิ่นฟ้าขาวอาร์เจนติน่าที่มีความน่าหลงใหลสำหรับเขา การเดินทางกลับไปที่อาร์เจนติน่าในครั้งนี้ ความตั้งใจที่แท้จริงของเขาก็คือไปสัมผัสวิถีความเป็นอาร์เจนติน่าจริงๆ และก็ต้องการไปเรียนวิธีการเล่นโปโล แต่เอาเข้าจริงเมื่อไปถึงอาร์เจนติน่า เบลค มายโคสกี้ ก็ต้องเบนเป้าหมายจากที่ตั้งใจไว้ แต่เป้าหมายใหม่ที่เขาต้องไปพบนั้นกลับเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจสุดพิเศษให้กับเขา และกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาลในเวลาต่อมา

 

เมื่อไปถึงอาร์เจนติน่า เบลค มายโคสกี้ ก็มุ่งไปที่การหาสถานที่สอนโปโล ระหว่างเดินทางไปในท้องถิ่นต่างๆก็ได้สัมผัสวิถีชีวิตผู้คน และเขาก็ได้ไปพบกับกลุ่มอาสาสมัครที่รวมตัวกันขึ้นจากคนหลายชาติ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านในอาร์เจนติน่าในด้านสาธารณสุข เบลคได้เขาไปพูดคุยกับกลุ่มอาสาสมัครเหล่านั้น ทำให้เขาได้รับทราบข้อมูลบางอย่างที่เขาคาไม่ถึงและไม่เคยรู้มาก่อน กลุ่มอาสาสมัครเล่าให้เขาฟังถึงความยากแค้นของเด็กๆในชนบทของอาร์เจนติน่า ในพื้นที่ห่างไกลตัวเมืองยังมีชุมชนและกลุ่มคนที่มีชีวิตที่ยังยากลำบาก โดยเฉพาะเด็กๆในท้องถิ่นเหล่านั้นยากจนถึงขนาดไม่มีแม้กระทั่ง “รองเท้า” ที่จะใส่เดินไปโรงเรียน เบลค มายโคสกี้เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าจากกลุ่มอาสาสมัครทำให้มีบางสิ่งที่ไปสะดุดความคิดของเขาเข้าอย่างจัง เขาเริ่มเกิดอารมณ์ร่วม และรู้สึกสงสารเด็กๆเหล่านั้น ในขณะเดียวกันก็อยากเดินทางไปให้เห็นกับตาตัวเองถึงความยากแค้นของเด็กๆเหล่านั้น เขาจึงขอติดตามไปกับกลุ่มอาสาสมัครเหล่านั้น เพื่อเดินทางไปเยี่ยมและพบปะกับเด็กๆเหล่านั้นด้วยตัวเอง

แม้ว่าความตั้งใจเดิมจะยังคงอยู่ แต่ตอนนี้เขารู้สึกว่ามีเรื่องที่น่าสนใจกว่าการไปเรียนวิธีการเล่นโปโล นั่นคือ การได้เป็นเห็นชีวิตจริงๆของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ว่าเอาอยู่กินและใช้ชีวิตกันอย่างไร เขาคือหนุ่มที่โตขึ้นมาในแดนแห่งความศิวิไลซ์และมั่งคั่ง เขาจึงนึกภาพไม่ออกว่า ความยากลำบากที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร และเมื่อเขาไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งในบัวโนส ไอเรส ชนบทอันห่างไกลตัวเมืองในอาร์เจนติน่า เขาก็พบว่าเรื่องเล่าที่กลุ่มอาสาสมัครเหล่านั้นเล่าให้เขาฟังเป็นความจริงทุกอย่าง เด็กๆในหมู่บ้านนั้นกำลังวิ่งเล่นกัน แต่ทุกคน “เท้าเปลือยเปล่า” ไม่มีใครมีรองเท้าเลย หลังจากวิ่งเล่นกันสักพัก ทุกคนก็เตรียมตัวไปโรงเรียน เด็กๆไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดนักเรียน สะพายกระเป๋าเตรียมออกเดินทาง แต่ก็ไม่มีใครสวมรองเท้าเช่นเดิม

Buenos Aires

เบลค หยุดเดินและยืนมองกวาดสายตาไปรอบๆกลุ่มเด็กๆเหล่านั้น ยากที่ใครจะเดาใจเขาได้ว่าเขากำลังคิดหรือรู้สึกอย่างไร เขามองไปยังผู้ใหญ่ที่เป็นเหล่าพ่อแม่ของเด็กๆเหล่านั้น เขาก็พบแต่คนที่ผิวหยาบกร้าน พบกับคนที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อจะเอาชีวิตให้รอดไปวันๆ สายตาของคนเหล่านั้นไม่บ่งบอกว่าจะมีจุดหมายใดๆในชีวิตนอกเสียจากจะต้องมีเงินเพื่อใช้ซื้ออาหารประทังชีวิตคนในครอบครัวให้ได้ และเขาก็มองไปยังเส้นทางถนนของหมู่บ้านที่มุ่งหน้าไปยังโรงเรียนของกลุ่มเด็กๆ เขาก็พบว่ามันคือถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยกรวดหิน ที่มีความแข็งแหลม และตะปุ่มตะป่ำ เดินไปคงจะเจ็บเท้าน่าดู และถ้าใครถูกหินบาด หรือ ถูกเศษไม้ต่ำเท้า มีโอกาสมากที่จะติดเชื้อจนเสียชีวิตได้เลย เพราะที่นี่ไม่มีอะไรที่ถูกหลักสาธารณสุขที่ดีเลย

“คนที่นี่ยากจนและแร้นแค้นเกินกว่าจะหาซื้อรองเท้าสักคู่มาให้ลูกๆ” เบลครำพันอยู่ในใจของตนเอง

ภาพของเด็กๆเท้าเปลือยเปล่าเดินไปโรงเรียน กลายเป็นภาพที่ประทับติดตรึงใจ เบลค มายโคสกี้ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มคิดหาวิธีช่วยเหลือเด็กๆเหล่านั้น โดยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าทำให้เขาตระหนักว่า

ปัญหาทุกอย่างจะถูกแก้ไขเมื่อมีความรู้

การจะหารองเท้าดีๆมาให้เด็กๆใส่เขาก็ต้องรู้ก่อนว่าเด็กๆและคนท้องถิ่นที่นั่นมักจะใส่รองเท้าแบบไหนกัน เขาจึงออกเสาะแสวงหาความรู้เรื่องรองเท้าจากคนท้องถิ่นในอาร์เจนติน่า จนรู้ว่ารองเท้าที่คนพื้นเมืองนิยมใส่กันคือรองเท้า “Alpargata”(อัลปาร์กาตา) ร้องเท้าที่ใช้วัสดุหลักเป็นผ้าฝ้าย รองเท้าพื้นเมืองชนิดนี้เคยเป็นที่นิยมกันมากในอาร์เจนตินา โดยส่วนมากแล้วคนที่สวมใส่ก็จะเป็นคนชนชั้นแรงงาน เพราะสวมใส่สบาย มีน้ำหนักเบา ที่สำคัญทนทานมากใส่ทำงานหนักๆได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะพัง แต่ก็เลิกนิยมไปเพราะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมองว่ามัน “ล้าสมัย” นี่คือแฟชั่นอีกแบบหนึ่งของคนจนและชนชั้นแรงงาน แต่วันนี้เบลค มายโคสกี้ ตั้งใจแล้วว่าจะชุบชีวิตรองเท้าชนิดนี้กลับมาอีกครั้ง

เมื่อรู้แล้วว่าจุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหนเขาจึงก้าวต่อไปหาคนที่ทำรองเท้า Alpargata และไม่เพียงตามหาคนทำรองเท้าเท่านั้น เขายังเข้าไปเรียนรู้วิธีการทำร้องเท้าชนิดนี้ด้วยตัวเองอีกด้วย เขาหยุดความคิดและความตั้งใจเรื่องการเรียนโปโลไปจนหมดสิ้นและมุ่งมั่นอยู่กับการศึกษาทำรองเท้าพื้นเมืองชนิดนี้อย่างจริงจัง และเมื่อเขาได้ความรู้มากพอแล้ว เขาก็บินกลับอเมริกาและเริ่มโปรเจกต์ใหม่ของเขาทันที

Blake-Mycoskie

เขากลับมาอเมริกาคราวนี้มาพร้อมแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่น เขาปลุกปั้นสร้างบริษัท โรงงานผลิตรองเท้าของตัวเองขึ้นมาและสร้างแบรนด์รองเท้า “TOMS” ที่เป็นตัวย่อมาจากแนวคิด “Shoes for better tomorrow” (รองเท้าเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า) และตอนหลังเปลี่ยนมาใช้คำว่า “Tomorrow’s Shoes” นั่นเอง และรองเท้าแบรนด์ TOMS กลายเป็นรองเท้าลำลองที่เปลี่ยนโลก เพราะโมเดลธุรกิจที่เขาเลือกใช้ คือ “One-for-One” เป็นโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม คือ รองเท้า TOMS ที่ลูกค้าซื้อไป ทุก 1 คู่ ทางแบรนด์ TOMS ก็จะบริจาครองเท้า TOMS 1 คู่ไปให้กับเด็กๆและคนยากจนในอาร์เจนติน่า แนวคิดนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง และกลายเป็นต้นแบบให้กับธุรกิจที่น่าสนใจต่างๆเอาไปใช้เป็นแนวคิดในการทำธุรกิจอีกด้วย และนี่คือเรื่องเล่าของแบรนด์รองเท้าเปลี่ยนโลก

TOMS Shoes


ข้อมูลจาก : https://www.toms.com/about-toms

เครดิตภาพจาก :https://medium.com/blake-mycoskie-toms/ten-years-of-giving-together-6fccee01bbb1
https://medium.com/@jcrawf/should-we-criticize-toms-shoes-c105e8f69d10
http://unlearner.com/culture/the-story-of-toms-shoes-blake-mycoskie/
https://turismo.buenosaires.gob.ar/en/article/buenos-aires-gateway-argentina