ต้องยอมรับเลยว่าในระยะหลัง ๆ ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา “เทรนด์ Eco” หรือกระแสความตื่นตัวในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจกันมาก กลุ่มธุรกิจทุกขนาดจากทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเราต่างรู้กันดีว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมกระทบกับคุณภาพชีวิตขนาดไหน ซึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วธุรกิจในกลุ่ม Startup ดูเหมือนจะมุ่งเน้นการทำธุรกิจของตนเองไปในเทรนด์นี้กันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมี Startup จากทั่วโลก จับกระแสเทรนด์ Eco มาแปรเปลี่ยนเป็นธุรกิจ มีการวางกลยุทธ์การตลาดที่ชัดเจนเลยว่าจะใช้เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นจุดขาย ซึ่งครั้งนี้เราจึงจะขอแนะนำให้รู้จักกับ Startup หลาย ๆ รายจากทั่วโลกที่จับกระแสความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมาทำธุรกิจ เพื่อเป็นไอเดียให้กับทุก ๆ คน ลองมาดูกันว่ามีไอเดียไหนที่พอจะน่าสนใจกันบ้าง
น้ำนมงา Sesamilk
มาเริ่มต้นกันที่แบรนด์ Startup จากไทยกันก่อนเลย กับ Sesamilk แบรนด์น้ำนมจากงาแบบ 100% เจ้าแรกของโลก ซึ่งบอกเลยว่าเป็นการตอกย้ำให้เราเห็นว่าคนไทยเราก็เก่งไม่แพ้ใครเหมือนกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ของพวกเขาก็นับเป็นทางเลือกอีกทางสำหรับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
เนื่องด้วยระบบการทำปศุสัตว์เพื่อเอาน้ำนมวัวนั้น กระบวนการบางส่วนมีผลต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงมีคนจำนวนหนึ่งที่แพ้นมวัว และแพ้นมทั่วเหลือง Startup รายนี้จึงจับกระแสเทรนด์ Eco มาทำน้ำนมทางเลือก ซึ่งการเปิดตัวในปีที่ผ่านก็ทำได้สวยงาม แค่ปีแรกก็ทำยอดขายได้ถึง 7 แสนกล่องเข้าไปแล้ว ถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว
ชุดชั้นในที่ใส่ได้นาน ไม่ต้องกังวลเรื่องซัก จาก Organic Basics
รายนี้เป็น Startup จากเดนมาร์ก ที่มองว่าการซักเสื้อผ้าบ่อย ๆ นั้น เป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้สภาพแวดล้อมเกิดความเสียหาย เพราะเราจะต้องปล่อยทั้งสิ่งสกปรก แบคทีเรีย รวมไปถึงสารเคมี สารฟอกขาวต่าง ๆ ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ชำระล้างลงสู่แหล่งน้ำ อีกทั้งประเทศของพวกเขาอากาศเย็นสบายไม่จำเป็นที่จะต้องซักผ้ากันบ่อย ๆ ก็ได้ จึงทำให้พวกเขาเกิดไอเดียที่จะใช้เทรนด์ Eco มาปรับเข้ากับบริบทในประเทศของพวกเขา
ตรงนี้จึงก่อเกิดการพัฒนาต่อยอดและการวางกลยุทธ์การตลาดอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มต้นจากเทคโนโลยี SilverTech2.0 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการเคลือบผิวผ้าด้วยโลหะเงิน ซึ่งจะช่วยปกป้องผิวผ้าจากสิ่งสกปรกและกลิ่นอับได้ดี เนื่องด้วยโลหะเงินที่พวกเขานำมาเคลือบผ้านั้น จะมีคุณสมบัติในการฆ่าแบคทีเรียและเชื้อราต่าง ๆ ได้ ทำใส่ได้นาน ใส่ซ้ำได้หลายสัปดาห์ ไม่ต้องซักก็ไม่มีกลิ่นเหม็น และตัวเนื้อผ้าเองก็พิเศษเพราะผลิตจากวัสดุรีไซเคิลด้วย โดยพวกเขานำมาผลิตเป็นชุดชั้นในก่อนในเบื้องต้น แม้ราคาการขายจะค่อนข้างสูง แต่การวางกลยุทธ์การตลาดแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายไปยังคนรุ่นใหม่ทำให้ แบรนด์ของพวกเขาเป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว
แก้วที่รับประทานได้ จาก Loliware
แบรนด์นี้จากอเมริกา อีกหนึ่งประเทศที่นิยมดื่มกาแฟและเครื่องดื่มต่าง ๆ ซึ่งปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากแก้วพลาสติกนั้นเยอะมากจนก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อทั่วโลกตื่นกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม และต่างกระตุ้นให้คนหันมาสนใจเรื่องของขยะพลาสติก พวกเขาจะขอเข้าเทรนด์ Eco บ้าง แต่มาในแนวที่แปลกกว่าใคร ตรงที่ผลิตแก้วแบบใหม่ออกมาเป็นแก้วที่สามารถกินได้
พวกเขามีการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ก็พบว่าสาหร่ายทะเล เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีประโยชน์มากกว่าการเป็นอาหาร บวกกับสินค้าสาหร่ายทะเลแบบแปรรูปนั้นก็มีการวางจำหน่ายทำตลาดมาทั่วโลกแล้ว พวกเขาจึงนำไอเดียมาผสานกัน จนกลายเป็นแก้วน้ำจากสาหร่ายทะเลที่สามารถใส่น้ำได้และรับประทานได้ พวกเขานำสาหร่ายมาปรุงเป็นรสชาติต่าง ๆ ในแบบที่คนอเมริกันชอบโดยเน้นไปที่รสชาติแบบผักและผลไม้ ใส่กลิ่นลงไปสักหน่อย และทำออกมาในรูปทรงแก้วน้ำ ใส่น้ำดื่มได้จริง และหลังจากใส่น้ำดื่มเสร็จแล้ว คุณไม่ยากทิ้งให้เป็นขยะก็สามารถที่จะกินแก้วนั้นเข้าไปเป็นขนมก็ยังได้
หากว่าใครไม่ต้องการจะกิน อยากจะทิ้งก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะแก้วนี้หลังจากใส่น้ำแล้วก็จะย่อยสลายไปเองภายในเวลา 2 เดือนหรือ 60 วันก็ต้องนับว่าเป็นไอเดียที่ยอดเยี่ยมมากจริง ๆ
ถุงเท้าจากแรงงานด้อยโอกาส จาก Conscious Step
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศอินเดียนั้นเต็มไปด้วยคนที่ด้อยโอกาสจำนวนมาก มีหลาย ๆ เมืองในอินเดีย ที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่แย่เอามาก ๆ จุดนั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจเริ่มต้นให้กับ Startup จากอเมริกาในเมืองนิวยอร์กรายหนึ่ง ที่เดิมทีสนใจเรื่องเทรนด์ Eco อยู่แล้วจึงต้องการนำธุรกิจของตนเองเข้าไปแก้ปัญหาทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คนบนโลกในเวลาเดียวกัน สุดท้ายจึงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สายกรีนอย่างถุงเท้าฝ่ายออร์แกนิก
อาจจะดูเหมือนไม่แปลกไม่ว้าวอะไร แต่ไม่ใช่แบบนั้นเลยถุงเท้าฝ่ายออร์แกนิกนี้ ถูกถักทอขึ้นด้วยจากแรงงานด้อยโอกาสในอินเดีย พวกเขานำธุรกิจของตนเองไปสร้างโอกาสสร้างรายได้ให้กับผู้คน และรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายถุงเท้านี้ ส่วนหนึ่งจะนำไปมอบให้สาธารณประโยชน์ ทั้งเรื่องการศึกษา มอบให้องค์กรที่ดูแลผผู้ติดเชื้อ HIV และมอบให้องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม
นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นของ Startup ที่จับเอาเทรนด์ Eco มาสร้างโอกาสทางธุรกิจและใช้เป็นเครื่องมือในการร่วมเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ใครที่กำลังมองหาไอเดียธุรกิจใหม่ ลองนำไปเป็นไอเดียต่อยอดกันได้