เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักกับ Airbnb บริษัท Startup ของอเมริกาอันเป็นเจ้าตำนานของธุรกิจแชร์ห้องพัก จุดเริ่มต้นของโมเดลธุรกิจเขย่าโลกนี้ก็มาจากแนวคิด Sharing Economy หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน ซึ่งเกิดขึ้นในยุคดิจิทัลนี่เอง ซึ่งปัจจุบันแนวคิดนี้ถูกนำมาขยายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ก่อเปิดเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ มากมายและเป็นที่มาของโมเดลธุรกิจล่าสุด อย่าง “Cloud Salon” ร้านตัดผมยุค New Normal ที่ไม่แน่เหมือนกันว่านี่อาจเป็นเทรนด์ธุรกิจในอนาคตก็เป็นไปได้
รูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปันที่ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัว
ต้องบอกว่าเป็นเวลากว่าสิบปีทีเดียว ที่แนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ขอย้อยทำความเข้าใจสำหรับคนที่ไม่คุ้นกับคำนี้กันสักนิด แนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันนั้น เป็นแนวคิดที่มีความมุ่งหมาย “ร่วมมือกันทำธุรกิจ” ไม่ใช่การทำธุรกิจแบบเดี่ยว ๆ คือเป็นการเติบโตไปร่วมกัน โดยอาจจะมีการแชร์กันระหว่างสิ่งของที่เป็นสินค้า เป็นบริการ หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี ระหว่าง คนต่อคน คนต่อบริษัท หรือ บริษัทต่อบริษัทก็ได้
แนวคิดนี้เริ่มมีการพัฒนานำมาปรับใช้ที่ละน้อย ที่เราเห็นได้ชัดก็คือ การเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน แล้วก็ธุรกิจแชร์ห้องพักของ Airbnb ต่อมาเมื่อไม่กี่ปีก็ขยับมามี cloud kitchen ที่ช่วยก่อให้เกิดการเติบโตของ food delivery เพราะเป็นธุรกิจที่ให้เช่าพื้นที่สำหรับทำครัว และล่าสุดก็ขยับมาเป็น Cloud Salon หรือการเปิดพื้นที่ให้ทำร้านตัดผม
Cloud Salon โมเดลใหม่ของธุรกิจตัดผมเสริมสวย
การเปิดพื้นที่ให้ทำร้านตัดผม ร้านเสริมสวยแบบ Cloud Salon นี้ เริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นก็ตอนช่วงวิกฤตโควิด 19 นี่เอง ขณะนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้วที่ประเทศมาเลเซีย โดยผู้ที่ทำให้โมเดลธุรกิจนี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจับต้องได้ก็คือ “วินเซนต์ โฮ” ซึ่งเขาเป็นทั้งนักธุรกิจและแฮร์สไตลิสต์ที่มีชื่อเสียงในวงการทำผมของมาเลเซีย การที่เป็นตัวจริงอยู่ในวงการนี้มากว่า 18 ปีทำให้เขารู้ถึงความต้องการของช่างทำผมและช่างตัดผมอย่างลึกซึ้งว่า แฮร์สไตลิสต์ทุกคนต่างต้องการมีร้านทำผมเป็นของตนเองด้วยกันทั้งนั้น เรียกว่าเป็น “ฝัน” ของช่างทำความทุกคนเลยทีเดียว
แต่การเป็นช่างผมมือหนึ่งกับการเป็นเจ้าของร้านทำผมนั้นเป็นคนละเรื่องกัน มีแฮร์สไตลิสต์มากมายที่เก่งและมือชื่อเสียงในวงการ พอลองมาเปิดร้านทำผมของตนเองเข้าจริง ๆ ก็ไปไม่เป็นสุดท้ายต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไป ในวงการตัดผมทำผมในปัจจุบันนี้ มีช่างผมแบบ “ฟรีแลนซ์” เกิดขึ้นมากมาย ทุกคนอยากมีร้านของตัวเองแต่ก็ไม่กล้าเสี่ยง อีกทั้งเงินทุนก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว เพราะงานไม่ค่อยมั่นคง รายได้ไม่แน่นอน เมื่อปัญหาเหล่านี้มารวมตัวกันเข้า ก็กลายเป็น Pain Point ใหญ่ในแวดวงช่างผม
วินเซนต์ โฮ ตระหนักดีถึงปัญหาเหล่านี้ และก็เริ่มเห็นช่องทางจากธุรกิจอื่น ๆ ที่ใช้แนวคิด Sharing Economy เขาเริ่มคิดที่จะเอาแนวทางนี้มาใช้บ้าง แต่ก็ยังไม่ตกผลึกดี แต่พอโควิดเข้ามาก็กลายเป็นตัวเร่ง เพราะคนออกจากบ้านไปทำผมตัดผมไม่ได้ ช่างตัดผมเองก็ไม่มีลูกค้า ใครมีร้านก็ต้องปิด วินเซนต์จึงใช้โอกาสนี้ ดึงเอาผู้ประกอบการในวงการธุรกิจร้านทำผมเข้ามารวมกลุ่มกัน และ นำเสนอโมเดลธุรกิจแบบ Cloud Salon ให้กลุ่มแนวร่วมรู้จัก ทุกคนชอบมากจึงได้ร่วมมือกันเป็นธุรกิจใหม่ในนาม “HIPSALONS”
Cloud Salon มีลักษณะเป็นอย่างไร
HIPSALONS ที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบ Cloud Salon นี้ จะเป็นอาคารหนึ่งที่เหมือนอาคารพาณิชย์ทำออฟฟิศ หรือห้างที่เราคุ้นเคยกันดีในทุก ๆ ที่ในโลก แต่ตึกนี้อาจจะไม่ได้ใหญ่โตขนาดนั้น จะมีพื้นที่เปิดให้เช่าสำหรับเปิดร้านทำผมตัดผมเสริมสวยโดยเฉพาะเลย ซึ่งจะว่าไปก็คล้าย ๆ กับห้างสรรพสินค้าหรือ community mall แต่เป็นศูนย์รวมร้านเสริมสวยนั่นเอง
ในส่วนของ HIPSALONS นั้นไม่ได้ใหญ่โต เปิดพื้นที่ใหเช่าเพียง 20 ล็อคเท่านั้น ทำสัญญาเช่าแบบปีต่อปี โดยในขณะนี้มีผู้สนใจเช่าพื้นที่ไปแล้วกว่า 70% ซึ่งทีม HIPSALONS นั้นก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการคัดเลือกผู้เช่ามาก เพราะพวกเขาคำนึงถึงความคุ้มค่าของผู้เช่าทุกราย คือ พวกเขาคิดว่าถ้ามาเช่าก็ต้องส่งเสริมสนับสนุนกันไปให้ถึงที่สุด ไม่ต้องการเห็นภาพร้านทำผมปิดตัวในพื้นที่ของพวกเขา ทีม HIPSALONS จึงมีการพิจารณาผู้เช่าต้องดูฐานลูกค้าของช่างทำผมแต่ละราย หรือใครเคยเปิดร้านมาแล้ว พื้นที่เก่าหมดสัญญาจะมาเช่าใหม่ตรงนี้ พวกเขาก็จะดูความนิยมของลูกค้าด้วย ซึ่งแต่ละรายที่เข้ามาก็หลากหลาย มีทั้งช่างทำผม ช่างทำเล็บ และผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษารังแคและปัญหาหนังศีรษะต่าง ๆ
ในตึกพื้นที่ให้เช่าของ HIPSALONS นี้เปิด 24 ชั่วโมง มีที่จอดรถ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลตลอดทั้งวัน เรียกว่าเหมือนเป็นศูนย์เสริมสวยเลยก็ว่าได้
ไม่ใช่แค่เพียงให้เช่าพื้นที่
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่า Cloud Salon ก็แค่เปิดพื้นที่ให้เช่าทำร้านเสริมสวยตัดผมเท่านั้นน่ะสิ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เพราะโมเดลธุรกิจนี้ไม่เพียงแค่มีพื้นที่ให้เช่าในราคาไม่แพงเท่านั้น แต่ยังมีการสร้างงานสร้างคนให้ความรู้เพิ่มพูนทักษะในวิชาช่างผมช่างเสริมสวยด้วย โดยจะมีสถาบันอบรมเรื่องนี้อยู่ภายใน ผู้เช่าสามารถเข้าไปเรียนรู้ฝึกทักษะเพิ่มเติมได้ อีกทั้งโมเดลธุรกิจนี้ยังรวมไปถึงเรื่องการทำการตลาดให้ผู้เช่า ประชาสัมพันธ์ให้กับช่างผมที่มาเช่า เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ เพิ่มเติมให้ด้วย
จุดหนึ่งที่น่าสนใจในโมเดลธุรกิจ Cloud Salon นี้ก็คือ การเพิ่มรายได้ให้กับช่างผม โดยปกติแล้ว ร้านตัดผมทำผมในมาเลเซียจะมีฐานเฉลี่ยส่วนแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของร้านกับช่างผม อยู่ที่ 60/40 หรือ 70/30 ร้านเอาส่วนมากไปที่เหลือก็เป็นรายได้ของช่าง แต่หากช่างมาเปิดร้านแบบ Cloud Salon เองช่างผมจะสามารถเพิ่มรายได้ของตัวเองขึ้นไปถึง 70% ได้เลย
เมื่อพิจารณาดูไปแล้ว Cloud Salon ก็เป็นโมเดลธุรกิจที่ดูเกื้อกูลกัน ถ้าช่างไปได้ เจ้าของพื้นที่ก็รอดไปด้วย คือเป็นการทำธุรกิจที่ก้าวไปด้วยกัน เติบโตไปด้วยกัน การทำแบบนี้ก็จะทำให้สามารถควบคุมอะไรได้ง่ายมากขึ้น ดีกว่าเปิดแบบตัวใครตัวมัน ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าโมเดลนี้จะกลายเป็นเทรนด์ธุรกิจที่ได้รับความนิยมในอนาคตหรือไม่ แต่ถ้าทำแล้วมีรายได้เพิ่มแบบนี้ คิดว่าช่างทำผมต้องสนใจอยู่แล้ว ก็น่าจับตามองไปน้อยเลย