การระบาดของโรค COVID-19 สร้างปัญหาหนักให้ทั้งโลก และปัญหาที่จะตามมาหลังจากนี้ก็คือวิกฤตเศรษฐกิจระดับมหภาค ซึ่งจะส่งผลต่อไปเป็นลูกโซ่ถึงเรื่องการตัดสินใจทำธุรกิจ การวางแผนกลยุทธ์การตลาด การลงทุนทำโฆษณา และจะกระทบไปยังสภาพสังคมการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อสภาพสังคมเกิดการบีบรัดนั่นย่อมหมายถึง พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนไป ซึ่งหมายรวมไปถึง ความคิด การตัดสินใจ และมุมมองต่อชีวิต อาชีพ การงาน การเงินของคนแต่ละคนจะต้องเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้นำมาสู่ “พฤติกรรมผู้บริโภคแบบใหม่” สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็น Consumer Insights ที่เจ้าของธุรกิจ เจ้าของแบรนด์ นักวางแผนกลยุทธ์การตลาดควรจะต้องรู้และต้องมีการอัปเดตให้เข้าใจความเปลี่ยนไปอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับใช้กับการประกอบธุรกิจของตนเองได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน
มีการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค ความคิดความรู้สึก ทัศนคติของผู้บริโภคในช่วงหลังของการระบาดโควิด 19 การวิจัยนี้สุ่มตัวอย่างราว 800 คน ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ในช่วงอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี คละระดับการศึกษา และระดับรายได้ ซึ่งผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 4 ด้าน
เศรษฐกิจและการเงิน
ผลสรุปออกมา ก็คือ คนไทยรู้สึกเป็นห่วงและมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย กังวลเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่การงานของตนเอง จนงดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนทุกอย่าง คนจำนวนเกินครึ่งจากการศึกษานี้ มีพฤติกรรมที่จะถือเงินสดไว้กับตัวมากขึ้น แกละเลือกที่จะออมเงินมากขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด
• กังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ 71%
• เป็นห่วงเรื่องความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 60%
• รู้สึกวิตก เครียด และเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในธุรกิจ อาชีพหน้าที่การงาน 60%
• เลือกที่จะออมเงินแทนการใช้จ่ายลงทุน 33%
• เลือกที่จะลงทุนกับการทำธุรกิจ วางกลยุทธ์การ สร้างแบรนด์ 20%
• เลือกที่จะลงทุนกับเรื่องประกัน 12%
สิ่งที่น่าสนใจจากประเด็นนี้ก็คือ ความกังวลของผู้บริโภคที่มีครอบครัว นอกจากความกังวลเรื่องการเงินส่วนตัวแล้ว พวกเขายังมีความวิตกเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบอื่น ๆ ที่จะต้องมีกับคนในครอบครัวด้วย อย่างครอบครัวที่มีลูก และคนสูงอายุในบ้าน ผู้รับผิดชอบดูแลจะรู้สึกกังวลว่าตนเองจะไม่สามารถรับมือดูแลคนในครอบครัวแบบเดิมได้อีกต่อไป
การงานและอาชีพ
ผลสรุปออกมาในตอนนี้ก็คือ คนไทยมีมุมมองต่อเรื่องการงานว่า “มีงานทำตอนนี้ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด” โดยประเด็นนี้เป็นเป้าหมายหลักเลย โดยเรื่องของความก้าวหน้าในอาชีพการงานกลายเป็นเรื่องที่คนแทบไม่ได้คิดถึงเลยในช่วงนี้
• คนมีความกังวลต่อเรื่องความมั่นคงของอาชีพการงานคิดเป็น 62%
• มีความเครียดเกี่ยวกับการถูกปรับลดค่าจ้างคิดเป็น 48%
• วิตกกังวลมากจนถึงขั้นเครียดเพราะกลัวว่าจะตกงานคิดเป็น 47%
• ลงทุนที่จะไปเพิ่มความสามารถเพื่อให้สามารถรักษาหน้าที่การงานเอาไว้ได้คิดเป็น 31.5%
เมื่อหน้าที่การงานและรายได้จากงานไม่ได้มั่นคงเหมือนเดิม และไม่ได้อยู่ในระดับเดิม ทุกอย่างถูกปรับลงมาให้ลดลงทุกอย่าง นั่นทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ผู้คนลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน (เฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นจากอาชีพการงาน ไม่เกี่ยวกับมาตรการรักษาระยะห่าง) ลดการสังสรรค์ ลดการเที่ยว เรียกว่าลดทุกอย่างที่ต้องใช้เงินลงไปทั้งหมด
สิ่งที่หน้าสนใจก็คือ ความคิดและทัศนคติของคน Gen Z หรือกลุ่มวัยรุ่นที่เพิ่งจบการศึกษาในปัจจุบัน โดยปกติคนกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ตามติด Passion ของตนเอง ชอบอะไร สนใจอะไร ก็จะขวนขวายลงไปทำและสร้างอาชีพจากตรงนั้นเป็นเรื่องแรก ๆ แต่พอโควิดเข้ามา กลายเป็นว่า คน Gen Z “ไม่กล้าฝัน” พวกเขาเริ่มกลับมาพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว และทบทวนชีวิตตนเองอย่างลึกซึ้งขึ้น มองอนาคตอย่างตระหนักถึงความยากและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า และตัดสินใจที่จะไปเพิ่มทักษะความสามารถของตนเองเพื่อให้ประกอบอาชีพอะไรก็ได้ โดยปัดเอาความชอบความสนใจที่แท้จริงของตนเองเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญรองลงมา
อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสนใจนั่นก็คือ กลุ่มคน Gen Y หรือ กลุ่ม Millennials หรือกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงาน 20 กว่า จนถึงประมาณ 38 คนกลุ่มนี้ก็มีมุมมองที่เปลี่ยนไป ทั้ง ๆ ที่คนกลุ่มนี้ชอบที่จะท่องเที่ยวพักผ่อนตามหาแรงบันดาลใจเพื่อชาร์จไฟให้ตัวเองกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้พวกเขาไม่สามารถทำแบบนั้นได้เลย เพราะเริ่มรู้สึกตัวว่า “ไม่มีอะไรมั่นคง” คนกลุ่มนี้ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มหาวิธีพัฒนาทักษะใหม่ของตนเอง เพื่อที่จะหาวิธีสร้างรายได้เสริม หารายได้ทางที่ 2 และ 3
สำหรับคนต่างจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มนี้ จะแตกต่างไปจากคนกรุงเทพฯ พวกเขามีความวิตกแต่ไม่มากเท่าคนกรุงเทพฯ พวกเขามองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ก็แค่การปรับเปลี่ยนงานอีกครั้งหนึ่ง ที่เป็นเช่นนั้น เพราะคนต่างจังหวัดนั้น มีการวางเป้าหมายในชีวิตอีกแบบหนึ่งและพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีการปรับตัวต่ออาชีพการงานอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว พวกเขาขอแค่ค่าแรงที่คุ้มค่า หรือราคาผลผลิตที่เหมาะสมพวกเขาก็พร้อมที่จะปรับตัวอยู่แล้ว
การปฏิสัมพันธ์ในสังคม
ผลสรุปก็คือ ผู้คนได้มีโอกาสใช้เวลากับคนในครอบครัวมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาพบปะสังสรรค์กับผู้อื่นน้อยลง
• 56% ผู้บริโภคเลือกที่จะเปลี่ยนมาใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นแทนการไปพบกับสังสรรค์
• 52% เลือกที่จะลงทุนนำเทคโนโลยีหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในแง่ความบันเทิงมาใช้ในบ้านเพื่อตอบสนองความต้องการของการอยู่ร่วมกันในครอบครัวมากขึ้น
• 46% เลือกที่จะใช้เวลาเสพความบันเทิงนอกบ้านน้อยลง
สิ่งที่น่าสนใจในประเด็นนี้ก็อยู่ที่ เรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับการ Shopping ที่ผ่านมาเราอาจได้ยินว่า การช้อปปิ้งออนไลน์เติบโตขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วอัตราส่วนการเติบโตของตลาดเพิ่มขึ้นจริงเพียง 28% เท่านั้น เพราะคนยังมีการแบ่งส่วนระหว่างออนไลน์และออฟไลน์อยู่ ที่ผ่านมาหากเป็นส่วนของค้าปลีก เราจะเห็นภาพคนยังไปซื้อของตุนในห้างสรรพสินค้ากันอยู่ การ Shopping เป็นไปในลักษณะความจำเป็นไม่ใช่การซื้อเพื่อความผ่อนคลาย
ในส่วนของการ Shopping ในแง่ของความผ่อนคลายนั้นก็เกิดขึ้นบ้าง แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและมีความสำคัญต่อเจ้าของธุรกิจ และเป็นสิ่งที่นักวางกลยุทธ์การตลาดต้องจับตามองให้ดี คือ เรื่องของ Experience ตอนนี้พฤติกรรมลูกค้าจะเปลี่ยนไป ทุกคนจะไม่ใช้เวลากับการเลือกซื้อสินค้านานนัก ดังนั้น เจ้าของธุรกิจและนักกลยุทธ์การตลาดควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทาง ให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น เห้นสินค้าง่ายขึ้น จ่ายเงินสะดวกขึ้น ทุกอย่างต้องใช้เวลาน้อยลง ลดการสัมผัสได้ ซึ่งหากใครก้าวมาตรงนี้ก่อนก็จะได้เปรียบในเชิงการตลาดไม่น้อย
ความสุขในการใช้ชีวิต
ผลสรุปก็คือ ผู้คนส่วนใหญ่มีความสุขกับชีวิตความเป็นอยู่น้อยลง และมีความเครียดมากขึ้น มีสุขภาพจิตที่แย่ลง มีความกังวลในทุก ๆ เรื่อง
• 47% ยอมรับว่ามีความเครียดสูงและสุขภาพจิตตนเองย่ำแย่
• 45% กังวลกับเรื่องการระบาดระลอก 2 ของโควิด รวมถึงเกิดความไม่มั่นใจในการรับมือของภาคราชการ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่หลาย ๆ อย่างผ่อนคลายลง แต่ในใจจริง ๆ ของผู้บริโภคก็ยังคงกังวลการกลับมาระบาดระลอก 2 หรือ 3 ของโควิดอยู่ดี ซึ่งความกังวลนั้นส่งผลให้พวกเขาไม่กล้าที่จะใช้จ่าย ไม่กล้าที่จะใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เหมือนเคย ตรงนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่เจ้าของธุรกิจและนักกลยุทธ์การตลาดทั้งหลายสามารถที่จะหาช่องว่างจากความเครียดความวิตกนี้ มาสร้างความสุข ความมั่นใจให้กับผู้บริโภค อาจพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความรู้สึกสร้างความมั่นใจให้กับผู้คน หรือ ทำให้ผู้คนมีความสุขผ่านคอนเทนต์ อย่างเรื่องเล่าตลก ๆ คอนเทนต์บันเทิงต่าง ๆ ซึ่งถ้าใครก้าวมาถึงตรงนี้ก่อนได้ ก็จะสามารถกำหนดพฤติกรรมผู้บริโภคได้ และนั่นจะกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจมีโอกาสโตไปในอนาคตได้
นี่คือมุมมองของผู้บริโภคในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งมุมมองเหล่านี้ คือสิ่งที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของผู้บริโภคในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าวันนี้ทุกคนไม่มีความมั่นใจในการใช้ชีวิตเลย ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับคนทำธุรกิจ รวมไปถึงคนคิดและวางแผนกลยุทธ์การตลาด แต่ข้อมูลเหล่านี้การเป็นประโยชน์บ้างสำหรับใครบางคนที่กำลังจะตัดสินใจทำอะไร ก็หวังว่าคงจะนำไปปรับใช้เพื่อการตัดสินใจในธุรกิจของคนกันได้บ้าง