Clubhouse แอปโซเชียลน้องใหม่ ที่ดังกระหึ่มในไทยได้แบบชั่วข้ามคืน

Clubhouse ใช้เวลาเพียงไม่นานอาจจะเรียกว่าเพียงขามคืนเท่านั้นก็สามารถทำให้คนรู้จักได้ อะไรอยู่เบื้องหลังกระแสที่มาแรงของแอปพลิเคชันนี้กัน

clubhouse-strategy

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เล่นโซเชียลมีเดีย หรืออยู่ในโลกออนไลน์น่าจะเห็นชื่อของแอปพลิเคชันหนึ่งเป็นกระแสดฮิตติดเทรนด์ขึ้นมา นั่นก็คือ Clubhouse มีคนบนโลกออนไลน์ชวนกันไปเล่นเยอะมาก จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าแอปนี้คืออะไรกันแน่ แล้วดีจริงไหม ? ซึ่งจะดีจริงหรือไม่ก็คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่สิ่งที่น่าสนใจในแง่ของธุรกิจก็คือ Clubhouse ใช้เวลาเพียงไม่นานอาจจะเรียกว่าเพียงขามคืนเท่านั้นก็สามารถทำให้คนรู้จักได้ ลองมาดูดีกว่าว่า แอปนี้ผู้พัฒนาเข้ามีกลยุทธ์การตลาดแบบไหนที่เรียกกระแสได้มากถึงเพียงนี้

 

Clubhouse แอปโซเชียลใหม่ เกมหรือเป็นบาร์ลับ

กระแสดังและเป็นที่พูดถึงแบบนี้ แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนส่วนมากก็ยังไม่รู้ว่าเจ้า Clubhouse นี้คืออะไรกันแน่ ด้วยชื่อที่ดูสื่อความหมายเป็นในเชิงลับ ๆ ก็ทำให้ดูน่าค้นหา ความรู้สึกบางคนก็มองว่าเป็นชื่อเกมอะไรหรือเปล่า หรือกำลังเป็นธุรกิจไหนที่กำลังใช้กลยุทธ์การตลารดใหม่ในการโปรโมทสร้างกระแส แต่ไม่ใช่เลย เฉลยให้กันแบบเข้าใจง่าย ๆ Clubhouse เป็นแอปพลิเคชันหนึ่งที่เป็นโซเชียลมีเดียใหม่ โดยมีรูปแบบการใช้งานด้วยการแชทด้วยเสียง หรือ จะเรียกง่าย ๆ แอป Clubhouse เป็นแอปแบบ Audio Chat นั่นเอง

 

Audio Chat มีวิธีการใช้งานแบบไหน

ประเด็นต่อมาที่หลายคนน่าจะสงสัยก็คือ แอป Clubhouse ที่เป็นโซเชียลสไตล์ Audio Chat นี้มีวิธีการใช้งานอย่างไร หลักการของแอปนี้ก็ง่าย ๆ ก็คือ ให้ผู้ใช้งานพูดคุยกันด้วยเสียง โดยการจะพูดคุยกันได้นั้น ก็จะต้องมีผู้หนึ่งที่เปิดห้องสนทนาหรือมีผู้ตั้งโพสต์ก่อน จากนั้นก็จะต้องมีการเชิญเข้ามาร่วมพูดคุย ซึ่งใครที่ได้รับเชิญและตอบรับการเชิญก็จะเข้าร่วมพูดคุยได้นั่นเอง

ซึ่งภายในห้องสนทนาที่มีการเปิดขึ้นนั้น ก็จะแบ่งผู้เข้าร่วมสนทนาเป็น 3 สถานะได้แก่

  • ผู้ดูแล
  • ผู้ฟัง
  • ผู้สนทนา

หากจะว่าไปก็คล้าย ๆ กับการ VDO Call หากันคล้ายการประชุม และก็มีความคล้ายกับ podcast อยู่ในตัวเอง เพราะการสนทนาจะต้องมีการสร้าง Topic ขึ้นมา และคนที่เข้ามาร่วมฟังสามารถที่จะแชร์เนื้อหาของการสนทนาออกไปได้ด้วย จึงไม่เหมือนกับการโทรศัพท์

audio-chatการจะเข้าร่วม Clubhouse นั้น ผู้ที่จะเข้าร่วมจะต้องมีการสมัครสมาชิกและลงทะเบียน เมื่อสร้าง Username และใครที่มีบัญชีอยู่ก่อนแล้ว มากดเชิญเราถึงจะเข้าร่วมการสนทนาได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในตอนนี้แอปนี้ยังใช้ได้อยู่บนแพลตฟอร์ม iOS เท่านั้น ซึ่งเร็ว ๆ นี้ก็คงจะเข้ามายังฝั่ง Android แน่นอน

 

กลยุทธ์อะไรที่ทำให้ Clubhouse ดังกระหึ่มในเวลาอันรวดเร็ว

จริง ๆ แล้ว Clubhouse มีการพัฒนาขึ้นมาโดยนักพัฒนาจากบริษัท Alpha Exploration Co. ตั้งแต่ปี 2020 แล้ว แต่ใช้เวลาเพียงไม่นานก็ได้รับความสนใจ และถ้าจะให้ตรงกว่านั้น การดังและเป็นที่รู้จักในไทย ใช้เวลาเพียงแค่ข้ามคืนเท่านั้นเอง ซึ่งกลยุทธ์การตลาดที่ซ้อนอยู่ภายใต้ชื่อเสียงที่เกิดขึ้นนี้ ถ้าจะให้วิเคราะห์ก็คงจะแบ่งเป็นประเด็นได้ดังนี้

1.การเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีพลัง – ต้องบอกเลยว่าผู้พัฒนา Clubhouse ใช้กลยุทธ์การตลาดในการเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานได้ชัดเจนมาก พวกเขาไม่ได้ต้องการผู้ใช้งานแบบทั่วไป แต่พวกเขาเน้นไปเลยว่าต้องการคนที่มีพลังและมีอิทธิพลต่อสังคม อย่างคนศิลปินคนดัง นักสร้างสรรค์ นักคิด นักเขียน คนในระดับผู้บริหารและนักธุรกิจชั้นนำ รวมไปถึงคนที่เป็นไอดอลที่ชอบทดลองสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งการเริ่มต้นจากคนกลุ่มนี้ พลังของพวกเขาจะกระจาย Clubhouse ออกไปให้ผู้ใช้งานในระดับทั่วไปเอง

2.จิตวิทยาทางสังคม – เป็นเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องจากข้อแรก เพราะเมื่อผู้ทรงอิทธิพลทางสังคม เชิญใครเข้าร่วมสนทนา ก็ย่อมหมายความว่าผู้ที่ได้รับเชิญเป็นคนสำคัญ เหมือนกับถ้าดาราศิลปิน มาเชิญเราไปสนทนาก็คงสร้างความรู้สึกดี ๆ และทำให้ผู้ที่ได้รับเชิญรู้สึกดีใจและประทับใจ สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างภาพลักษณ์ในเชิงสร้างสรรค์ให้กับแอปพลิเคชันไปในตัวทันที

3.กระแสจาก Elon Musk – อันนี้อาจจะไม่ใช่กลยุทธ์อะไร แต่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แอปพลิเคชันนี้เป็นที่รู้จักขึ้นมา จะว่าไปก็เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การตลาดในข้อ 1 ที่ให้พลังของผู้ทรงอิทธิพลส่งต่อออกไป เพราะเมื่อคนอย่าง Elon Musk พูดอะไรก็มักจะทำให้เกิดกระแสอะไรบางอย่างขึ้นเสมอ ซึ่ง Elon Musk ได้สร้าง Topic ในเรื่องของการใช้ชีวิตบนดาวอังคารเอาไว้ในแอป Clubhouse จึงทำให้เกิดกระแสพูดถึงขึ้นในทันที

4.เป็นพื้นที่ในการพูดคุยประเด็นล่อแหลม – คงพอจะทราบข่าวกันไปแล้วว่า Clubhouse เป็นแอปที่ทางจีนและไต้หวันแบน ไม่ให้คนในประเทศใช้ เนื่องจากว่าแอปนี้สามารถสร้างพื้นที่ประเด็นพูดคุยได้ค่อนข้างอิสระ นั่นหมายความว่าผู้ใช้สามารถพูดถึงประเด็นที่ล่อแหลมอ่อนไหวต่อความมั่นคงทางการเมืองระดับประเทศได้ แต่อย่างว่ายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งทางการจีนมีการห้าม ยิ่งทำให้คนในหลาย ๆ ประเทศกลับสนใจและอยากจะใช้แอปนี้กันขึ้นมาบ้าง

 

แอป Audio Chat มีแค่รายเดียวหรือเปล่า

ในตอนนี้แอปพลิเคชันโซเชียลแนว Audio Chat ไม่ได้มีแค่ Clubhouse เพียงรายเดียว ขณะนี้ Spaces ซึ่งเป็นแอป Audio Chat จาก Twitter ก็เริ่มมีการเปิดใช้ในเวอร์ชันเบต้ากันแล้วในต่างประเทศ ยังไม่มีการให้ทดลองใช้ในประเทศไทย แต่ถ้ามีการพัฒนาออกมาเป็นตัวเต็มแล้ว เชื่อว่าก็คงมีผู้ใช้งานเยอะทีเดียว ซึ่งตอนนี้บอกเลยว่า เราไม่สามารถดูหมิ่น แอปพลิเคชันในเชิงโซเชียลมีเดียได้อีกต่อไป กรรีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกหรือในประเทศไทย ปรากฎการณ์มากมายในทางการบ้านการเมือง ก็ถูกสะท้อนออกมาจากพลังของโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น ในแง่ของคนทำธุรกิจเองก็จะเห็นว่าโซเชียลมีเดียเป็นที่พึ่งพิงของบางธุรกิจเลยทีเดียว เรียกว่าขาดไปก็ถึงกับทำธุรกิจไม่ได้เลย

 

วันนี้เราจึงต้องมองกันใหม่แล้วว่า การมีพื้นที่เดียว ช่องทางเดียวในการทำธุรกิจอาจไม่เพียงพออีกต่อไป โลกเปลี่ยนไปเร็วเหลือเกิน เร็วจนเราแทบจะปรับตัวตามไม่ทัน ซึ่งใครที่ทันเกมทันเทคโนโลยีและเข้าถึงได้ก่อนย่อมได้เปรียบในเชิงธุรกิจแน่นอน และใครเข้าถึงตรงนี้ได้แล้ว ยิ่งเลือกใช้กลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมยิ่งทำให้เกิดความนิยมและเป็นที่สนใจได้เพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการสะสมชื่อเสียงเหมือนในสมัยก่อน และ Clubhouse ถือเป็นรายหนึ่งที่แสดงให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในวันนี้ได้ชัดเจนจริง ๆ