บทความเชิงStory Telling ในครั้งนี้ ต้องการนำเสนอเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่ยังคงพอประคองตัวเองอยู่ได้ในตอนนี้ วิกฤต COVID-19 ถือเป็น disruptor ที่เข้ามาทำให้โลกแทบจะหยุดหมุนเลย เมื่อปัญหาดูท่าจะยาวกว่าที่คิดส่งผลให้สัญญาเศรษฐกิจโลกพุ่งดิ่งลงอย่างชัดเจน สื่อหลายๆสำนักต่างชี้ตรงกันว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่หนักหนาสาหัสกำลังมุ่งหน้ามาสู่เรา แล้วเราจะตั้งรับกับความเลวร้ายนที่กำลังจะเข้ามาหาเรากันอย่างไรดี พอดีว่าเราได้ไปเจอบทความหนึ่งของจาก Harvard Business Review เขียนโดย Robert Simons ซึ่งบอกไว้นานมากแล้วตั้งแต่ปี 2010 เกี่ยวกับเรื่องการวางโจทย์ปัญหาหรือการตั้งคำถามสำคัญสำหรับคนเป็นเจ้าของธุรกิจ เพื่อที่จะนำธุรกิจเดินไปข้างหน้าอย่างถูกต้อง เจ้าของธุรกิจควรจะต้องตั้งโจทย์อย่างไรถึงจะช่วยให้เราสามารถชี้วัดได้ว่าองค์กรทั้งหมดควรจะปรับตัวกับสถานการณ์เลวร้ายที่จะมาถึงอย่างไรต่อ ซึ่งมีคำถามทั้งหมด 7 ข้อ เราจึงขอนำมา Story Telling เล่าให้ทุกท่านได้ทราบกันในครั้งนี้

1.คุณมั่นใจแล้วหรือว่า ลูกค้าคุณในวันนี้เป็นลูกค้าของธุรกิจคุณจริงๆ

โจทย์พื้นฐานของคนทำธุรกิจทุกคนเลยก็คือ “ลูกค้าของธุรกิจเราคือใคร” เป็นคำถามง่ายๆแต่ทว่าคำตอบจริงๆกลับยากมาก เพราะแม้วันนี้หลายคนจะทำธุรกิจและมีลูกค้ามาซื้อสินค้าและบริการแล้วก็ตาม แต่ก็ยังกรองคำตอบสุดท้ายจากคำถามนี้ไม่ได้สักที มีผู้ประกอบการไม่น้อยที่ทำธุรกิจโดยที่มีแต่ลุกค้ารอง ลูกค้าหลักนานๆจะมาที แต่ในสถานการณ์ที่สั่นคลอนเช่นปัจจุบันนี้ จำเป็นมากที่คุณจะต้องหาลูกค้าหลักให้เจอ และทุ่มสรรพกำลังทั้งเงิน แรงงาน ทรัพยากรต่างๆโฟกัสไปที่ลูกค้าหลักกลุ่มที่เป็นเป้าหมายสำคัญเสียก่อน งบประมาณไหนค่าการตลาดใดที่เคยลงทุนไว้เผื่อลูกค้าค้ากลุ่มรอง ในสถานการณ์วิกฤต คุณก็ควรตัดออกไปก่อน

มีกรณีศึกษาหนึ่งที่เราอยากมา Story Telling ให้ทราบเพราะดูน่าสนใจดีก็คือ กรณีของแมคโดนัลด์ ย้อนกลับไปในช่วงปี 1980 – 1990 แมคโดนัลด์มีลูกค้าอยู่ทั่วโลกมากถึง 60 ล้านคน มากขนาดนี้แมคโดนัลด์ยังบอกว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ลูกค้าที่แท้จริงหรือลูกค้าหลักของพวกเขา และ Jim Cantalupo ผู้บริหารของแมคโดนัลด์ในตอนนั้นยังตั้งคำถามในใจอยู่เสมอว่า “ลูกค้าจริงๆของเราคือใครกันแน่” สรุปแล้วเขาก็พบคำตอบว่า “หัวหน้าสาขา” ของร้านแมคโดนัลด์ ซึ่งคือบรรดาลูกน้องของเขานั่นแหละที่เป็นลูกค้าหลักของร้าน เพราะหัวหน้าสาขาของร้านแมคโดนัลด์แต่ละแห่งในแต่ละประเทศ จะเป็นผู้ที่ปรับเมนูของร้านไปตามรสนิยมและความต้องการของลูกค้าในท้องถิ่นนั้นๆจนคนที่เข้ามากินเกิดความพอใจ ทำให้ร้านขายดีอยู่เรื่อยๆ

 

2.คุณให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญที่สุดของบริษัทแล้วหรือยัง

เจ้าของธุรกิจทุกคน ต้องพิจารณาให้ดีว่า ระหว่างตัวคุณ หุ้นส่วนบริษัท พนักงานบริษัทคุณ และลูกค้า ใครกันแน่ที่สำคัญกับบริษัทที่สุด และใครกันแน่ที่องค์กรควรให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าที่ผ่านมาคุณไม่เคยมองเลยนี้เลย ในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่พาเอาพิษเศรษฐกิจตามมาด้วยในเร็วๆนี้ ก็ควรจะต้องตั้งคำถามนี้กันได้แล้ว

ในตอนนี้ทุกสิ่งอาจสำคัญทั้งหมดในสายตาของเจ้าของธุรกิจที่ต้องเผชิญวิกฤต ทั้งนั้นคำตอบสำหรับคำถามนี้จึงไม่มีถูกผิด แต่ก็อยากจะแนะนำว่าอย่าลืมให้ความสำคัญกับพนักงานของบริษัทเป็นอันดับต้นๆด้วย เพราะถ้าคุณยังมีพนักงานเขาก็จะช่วยหาลูกค้าและดูแลลูกค้าให้คุณอยู่ เมื่อคุณมีลูกค้าธุรกิจคุณก็จะไปได้นั่นหมายถึงหุ้นส่วนคุณ ตัวคุณเองก็จะได้ประโยชน์ไปด้วยนั่นเอง

 

3.ศักยภาพการขับเคลื่อนธุรกิจของคุณขึ้นอยู่กับสิ่งใดกันแน่

อาจจะถึงเวลาที่เจ้าของธุรกิจต้องกลับมาพิจารณาดูว่า ธุรกิจของคุณจริงๆแล้วขับเคลื่อนด้วยอะไรกันแน่ ระหว่างคน เทคโนโลยีและข้อมูล จัดลำดับและเรียงความสำคัญให้ดี จะช่วยให้คุณกำหนดเม็ดเงินที่จะลงทุนหรือประคองธุรกิจในช่วงวิกฤตนี้ไปได้ อย่างถ้าธุรกิจคุณต้องขับเคลื่อนด้วยคนเป็นหลัก อาจจะลดงบประมาณในการลงทุนเรื่องเทคโนโลยีไปก่อนในช่วงนี้ เพื่อลดต้นทุนธุรกิจ หรือถ้าเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีก็ต้องดูว่าระหว่างเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า กับการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพอันไหนจะคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่ากัน

 

4.ธุรกิจของเรามีขอบเขตถึงแค่ไหน

ทุกธุรกิจมีสายป่านของตนเอง จะยาวจะสั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ ถ้าธุรกิจคุณเป็น SME สายป่านทางธุรกิจอาจไม่ยาวมาก จะไปเทียบกับธุรกิจใหญ่ๆที่กล้าลงทุนกับนวัตกรรมก็คงไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาองค์รวมของธุรกิจให้ดีว่าเรามีลูกค้าเยอะแค่ไหน แล้วถ้าลูกค้าหายไปเกือบหมด เราจะพอมีทางไหนที่ทำให้มีรายได้อยู่บ้าง เปลี่ยนตลาดได้ไหม เปลี่ยนสินค้าและปรับบรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้หรือไม่ ถ้าคุณเข้าใจขอบเขตและข้อจำกัดของธุรกิจตนเอง ก็จะทำให้คุณปรับตัวกับสถานการณ์ที่เลวร้ายได้

 

5.ภายในบริษัทเคยมีเรื่องของความคิดสร้างสรรค์บ้างหรือไม่

SME ของไทยเรามักมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนๆกันคือ พยายามหาแต่เงิน ขายแต่สินค้า แต่ไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องของความคิดสร้างสรรค์กันสักเท่าไหร่ แต่ในยามที่วิกฤตเข้ามาหาช่วงนี้แหละคือโอกาสที่คุรจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์จากทุก ๆ คน เจ้าของธุรกิจต้องพยายามกระตุ้นตนเองและทุกๆคนในบริษัทให้เกิดการคิดอย่างสร้างสรรค์ ไอเดียของทุกคนนี่เองที่จะทำให้บริษัทมีทางออกใหม่ๆและอาจเป็นทางที่ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจเองอาจไม่เคยคิดถึงมาก่อนเลยด้วย

 

6.เราใส่ใจในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรกันแค่ไหน

จริงๆแล้วชีวิตการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง บริษัทส่วนใหญ่มักละเลยในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร จึงทำให้เราลืมเรื่องของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ลืมเรื่องการสนับสนุนกัน เพราะเรามักแบ่งแยกฝ่ายและหน้าที่กันจนกลายเป็นตัวใครตัวมัน ในยามที่ธุรกิจกำลังเผชิญกับปัญหา อาจถึงเวลาที่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันใหม่ เพราะสิ่งนี้จะช่วยปรับจูนให้พนักงานแต่ละฝ่าย เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้นทำให้เกิดการสนับสนุนกันและกันจนงานสำเร็จได้

 

7.เคยคิดถึงวันสุดท้ายของธุรกิจเราเองบ้างหรือไม่

การคิดถึงภาพที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของเรานั้น ไม่ใช่เรื่องของการคิดลบ แต่เป็นเรื่องของความไม่ประมาท ซึ่งก็ถือเป็นหน้าที่หนึ่งของคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจทุกคน การมองภาพแย่ๆไว้บ้างก็จะช่วยทำให้เราเตรียมแผนรับมือ หาทางออกล่วงหน้าไว้ได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง

 

ทั้งหมดนี้ คือ 7 คำถามสำคัญที่ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจต้องหาคำตอบเตรียมเอาไว้ เพราะหลังจากนี้เป็นต้นไป อะไรที่ไม่คาดคิดก็อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจของคุณได้ หวังว่าบทความ Story Telling ในครั้งนี้ของเราคงจะเป็นประโยชน์ต่อคุณกันบ้าง ขอเอาใจช่วยทุกคนให้ฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้