เมื่อเจ้าไวรัส Covid -19 ลากความอันตรายยาวมาจนเกือบเข้าเดือนที่ 4 ของปี 2020 แล้ว และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะไปหยุดลงเมื่อไหร่ ทำให้คนทำธุรกิจในตอนนี้กุมขมับกันหมด บางธุรกิจยังคงทรงๆ แต่บางธุรกิจนั้นย่ำแย่มาก หากสถานการณ์ลากยาวไปกว่านี้ เชื่อว่าอาจมีธุรกิจอีกมากที่ต้านทานไม่ไหว ประเด็นที่เราจะมา Story Telling เล่าสู่กันฟัง และนำมาเป็นเรื่องราวชวนคุยกันในครั้งนี้ จึงเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับผู้นำองค์กร หรือเจ้าของธุรกิจต่างๆ นั่นเอง ที่ในวิกฤตที่ไร้ทิศทางแบบนี้ มีการใช้กฎหมายสั่งปิดสถานที่ต่างๆแบบนี้ จะรับมืออย่างไร และจะนำองค์กรไปในทิศทางไหนดี ถึงจะพอมีโอกาสรอดบ้างวันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กัน
เมื่อไม่มีทางออกที่ดีที่สุดในวิกฤตแบบนี้
เมื่อวันที่ 16-18 มี.ค. 6 2020 ที่ผ่านมา ทาง Singularity University ได้มีการจัดประชุมแบบออนไลน์ เพื่ออธิบายนำเสนอข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในประเด็น “How leaders can navigate unpredictable situations” หรือ “บทบาทของผู้นำองค์กรในสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้” โดยผู้ที่อธิบายและมีการแชร์มุมมองในเรื่องนี้ก็คือ Catherine Brown ผู้เชี่ยวชาญในด้านการทำให้ธุรกิจเติบโต ซึ่งเธอได้กล่าวว่า
ภายใต้สถานการณ์วิกฤตที่ควบคุมไม่ได้ และ ไร้ทิศทางในแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวใดที่จะนำมาใช้จัดการกับทุกธุรกิจอย่างได้ผลจริงๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้นำองค์กรต้องทำเลยก็คือ “ฉลาดที่จะสร้างความรู้สึก ปลอดภัยและความมั่นใจให้กับผู้คนในองค์กร” ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยทำให้เราตั้งหลักและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันสถานการณ์
อะไรที่จะทำให้ผู้นำสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในองค์กรได้
ในสถานการณ์วิกฤตที่เลวร้าย ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ไม่ว่าใครก็ตามต่างก็ล้วนหวั่นไหวและวิตกทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ ผู้นำหรือเจ้าของธุรกิจ ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยทำให้ผู้นำองค์กรสามารถที่จะ พาบริษัทและลูกต้องทุกชีวิตเดินฝ่าขวากนามไปด้วยกันได้ก็คือ “สติ”
- ผู้นำต้องเรียกสติกลับมาให้ไว
- อยู่กับปัจจุบันให้ได้
- จะต้องจดจ่อกับปัญหาต่างๆที่อยู่ตรงหน้าก่อน
- ใช้ความกล้าให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะคุณจะต้องตัดสินใจเรื่องยากๆมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน นอกจากการดึงสติตัวเองให้กลับมาอยู่ในปัจจุบันให้ไวแล้ว สิ่งที่ต้องมีและต้องใช้พอๆกันกับสติเลยก็คือ
- จินตนาการ ต้องลองจินตนาการและจำลองภาพที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทให้ออก
- การวิเคราะห์คาดการณ์ ต้องรับรู้ข้อมูลที่อัปเดต เป็นจริงและทันสถานการณ์ และมาประเมินอีกอีกว่าควรจะปรับตัวอย่างไร และถ้าทำไปแล้วจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทบ้าง
- การวางแผนล่วงหน้า เตรียมแผนการต่างๆไว้ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นแบบนี้ขึ้นจะรับมืออย่างไรให้บริษัทยังคงอยู่ได้
มีเครื่องมืออะไรไหมที่จะช่วยให้ผู้นำตัดสินใจได้ง่ายและเร็วขึ้น
ในการประชุมออนไลน์นั้น Catherine Brown ได้ทำการ Story Telling ให้เราฟังถึงเรื่อง “Cynefin Framework Model” หรือก็คือ ทฤษฎีความซับซ้อน ของ David Snowden ที่จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้นำสามารถมองเห็นปัญหาต่างๆได้กระจ่างขึ้นและทำให้ตัดสินใจในสภาวการณ์ที่ยากจะคาดเดาได้ยากนี้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น โดย Model นี้นำเสนอทางออกเป็น 4 มุมมอง คือ
- มุมมองปัญหาพื้นฐาน เป็นปัญหาพื้นๆที่ส่งผลกระทบชัดเจน ตรงไปตรงมา อย่างการไม่มีสินค้าเข้า การซื้อสินค้ามาขายไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้จะเป็นปัญหาที่คนทำธุรกิจมักพบเจอได้อยู่เสมอ และก็มักจะมีทางออกค่อนข้างตายตัว หรือมีรูปแบบทางออกที่คนเคยใช้ได้ผลมาแล้ว ผู้นำสามารถหยิบทางแก้เหล่านั้นมาใช้ได้เลย
- มุมมองปัญหาที่เริ่มซับซ้อน ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในตอนนี้แต่ยังไม่ทราบสาเหตุของปัญหาที่แน่นอน ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ หรือคนอื่นมาแนะนำหรือชี้ชัดสาเหตุ ถึงจะทำให้เห็นทางแก้ ถ้าองค์กรเริ่มตรงอยู่ในสภาวะนี้ ผู้นำก็ต้องรีบหาคนมาช่วยทันที
- มุมมองปัญหาที่ยุ่งเหยิง เป็นปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนที่ยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้ แต่ในไม่ช้าก็จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นอะไรที่ยังคาดเดาผลกระทบไม่ได้ ต้องรอให้เกิดขึ้นก่อนถึงจะทราบว่าปัญหาและผลกระทบจะรุนแรงแค่ไหน ถ้าบริษัทมีปัญหาในลักษณะนี้ ทางออกก็คือผู้นำจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทุกสิ่งที่จะลงมือทำต้องชัดเจนและรวดเร็ว เพื่อให้ปัญหาที่ซับซ้อนนั้นถูกตัดออกที่ละส่วน
- มุมมองปัญหาที่มืดมนและไร้ทางออก เป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก มองไปก็ยังไม่เห็นทางออก แม้จะคิดแล้ว วิเคราะห์แล้ว ประเมินแล้ว และลงมือทำแล้วก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ ถ้ากำลังประสบปัญหาในสภาวะนี้ สิ่งที่ผู้นำต้องทำก็คือ step by step หรือ day by day แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปแบบวันต่อวัน เพื่อให้รอดจากสถานการณ์นั้นไปให้ได้ก่อน
นี่คือ ทั้งหมดที่เราอยากนำมา Story Telling แบบชวนคุยและเล่าสู่กันฟังในวันนี้ หากคุณเป็นผู้นำองค์กรเป็นเจ้าของธุรกิจ สิ่งที่คุณต้องทำภายใต้สถานการณ์ไวรัสโคโรน่านี้ก็คือ มองปัญหาให้ถูกมุม แยกแยะให้ได้ว่ากำลังเผชิญปัญหาในระดับไหนเป็นเบื้องต้น ถ้าเข้าใจปัญหาที่ตนเองมีอย่างแท้จริง คุณก็จะตัดสินใจและกำหนดทิศทางให้กับองค์กรได้ว่าจะเดินต่อไปกันอย่างไรในทิศทางไหน อย่างไรก็ดี ขอส่งกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคน และขอทุกคนสามารถที่จะฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้ เข้มแข็งกันไว้นะครับ
ข้อมูลอ้างอิง