โรงเรียนคลองน้ำใสวิทยาคาร สร้างโอกาสให้กับเยาวชน สร้างคนจากผักที่มีมากในท้องถิ่น

โรงเรียนคลองน้ำใสวิทยาคาร ถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนตัวอย่างที่สามารถสร้างโอกาสให้กับเยาวชน ผ่านทรัพยากรและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น จนเกิดผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ

คนหนึ่งมีโอกาสผ่านเข้ามาในชีวิต แต่เขาเลือกที่จะมองข้ามโอกาสนั้นไป และเมื่อชีวิตเดินทางมาในยามคับขัน ก็ตีตราตัวเองประชดโลกว่า ไม่เคยมีใครให้โอกาสเขา ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นคนที่ไม่ไขว่คว้าโอกาสนั้นไว้เอง

คนอีกคนหนึ่งชีวิตทั้งชีวิต แทบไม่เคยมีโอกาสใด ๆ จากใครเลยที่จะหยิบยื่นเข้ามา และเขาก็ไม่เคยเรียกร้องหาโอกาสจากใครให้เสียเวลาด้วย เพราะไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่าโอกาสในชีวิตเป็นอย่างไร สำคัญอย่างไร รู้เพียงแค่ว่าให้ชีวิตอยู่รอดไปแบบวันต่อวันเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

ถ้าให้คุณเลือก คุณจะเลือกเป็นคนไหน?

สำหรับคุณครู “ดวงแก้ว เฉยเจริญ” แล้ว ขอเลือกที่จะอยู่ตรงกลางนั่นคือ ขอยืนอยู่ในตำแหน่ง “ผู้ให้โอกาส” เพราะชีวิตของคุณครูในทุก ๆ วันอยู่ท่ามกลางเด็ก ๆ และเยาวชนที่เป็นคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ หลายปีทีเดียวที่คุณครูดวงแก้วเฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนของโรงเรียนคลองน้ำใสวิทยาคารด้วยความห่วงใย

มรดกแห่งปัญหา

โรงเรียนคลองน้ำใสวิทยาคารเป็นโรงเรียนขนาดกลางที่ตั้งอยู่ที่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ใกล้แนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา นักเรียนส่วนใหญ่ของที่นี่ก็คือเด็กชายขอบที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านและชุมชนละแวกนี้ ซึ่งคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนชายขอบนี้ก็ต้องถือว่าค่อนข้างยากลำบากทีเดียว ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่มีฐานะยากจน เมื่อยากจนจึงทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา และเมื่อชีวิตของคนเป็นพ่อเป็นแม่ด้อยโอกาสทางการศึกษา จึงทำให้ขาดการวางแผนชีวิตที่ดี วงจรแห่งชีวิตที่ย่ำแย่จึงก่อตัวขึ้นและกลายเป็นมรดกตกทอดจากพ่อแม่สู่ลูก

เด็ก ๆ ของโรงเรียนคลองน้ำใสวิทยาคารส่วนใหญ่จึงกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาครอบครัว เป็นเด็กยากจนและด้อยโอกาส บางคนแทบไม่เคยเจอหน้าพ่อแม่เลย ต้องอาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่ เพราะพ่อแม่ต้องไปทำมาหากินในกรุงเทพฯ ด้วยชีวิตที่มีต้นทุนทางสังคมต่ำทางเลือกในชีวิตจึงไม่มากนัก มีนักเรียนจำนวนกว่า 5% ของจำนวนนักเรียนโรงเรียนแห่งนี้ที่จบแค่ ม.3 แล้วต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อไปทำงาน เลี้ยงตนเองและครอบครัว และยังมีบางส่วนยังไม่จบ ม. 3 เลยด้วยซ้ำก็ต้องออกไปขายแรงงานกันแล้ว

ไม่เพียงแค่นั้นเยาวชนบางส่วน มีเพศสัมพันธ์กันในวัยเรียนและทำให้เกิดปัญหาท้องในวัยเรียน ต้องออกจากโรงเรียนทั้งผู้ชายและผู้หญิง ต้องออกไปทำหน้าที่พ่อและแม่ ทั้ง ๆ ที่ชีวิตยังไม่พร้อม สำหรับบางคนอาจจะมองอย่างเหยียดหยามซ้ำเติมว่าเป็นการกระทำที่ไร้จิตสำนึกของตัวเอง แต่สำหรับคุณครูดวงแก้วแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้นเลย  เด็กเหล่านี้อาจขาดจิตสำนึกในเรื่องนี้เพราะพวกเขาและเธอขาดโอกาสทางการศึกษา จึงทำให้ใช้ชีวิตไปตามสัญชาตญาณการสืบพันธุ์กันเป็นธรรมดาของสัตว์โลก แต่ในขณะเดียวกันเยาวชนเหล่านี้ไม่ได้ไร้ซึ่งจิตสำนึกของความเป็นคน ยังคงมีจิตสำนึกของความรับผิดชอบ มิเช่นนั้นแล้วพวกเขาและเธอคงไม่ออกจากการเรียนไปทำงานเพื่อเลี้ยงลูกอย่างแน่นอน

ผู้สร้างและผู้ให้โอกาส

คุณครูดวงแก้วพบว่า เพราะเด็กและเยาวชนเหล่านี้ เป็นผู้ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา จึงทำให้พวกเขาและเธอใช้ชีวิตไปตามสัญชาตญาณ ขาดการตรึกตรองให้ดี และนั่นจะกลายเป็นปัญหาจากครอบครัวสู่อีกครอบครัว จากหนึ่งคนกระจายไปสู่ชุมชนและจะค่อย ๆ คืบคลานเข้าไปสู่ภาพรวมของสังคม จนกลายเป็นปัญหาสังคมขึ้นมาสักวันหนึ่ง

คุณครูดวงแก้ว จึงคิดว่าควรจะหาทางแก้ไขในเรื่องนี้ ทำอย่างไรที่จะทำให้เด็ก ๆ และเยาวชนเหล่านี้สามารถที่จะมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนต่อไปได้ เพื่อให้ความรู้เป็นแสงสว่างในการนำทางชีวิต ให้วุฒิการศึกษาเป็นใบเบิกทางให้พวกเขามีอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้ที่ดี เมื่อมองว่าโอกาสที่จะหยิบยื่นเข้ามาจากผู้อื่นนั้นมีน้อย คุณครูดวงแก้วจึงขอเลือกที่จะเป็น “ผู้สร้างและผู้ให้โอกาส” เสียเอง

food-processing-club-by-chai-khop-logo
ชมรมแปรรูปอาหาร By ชายขอบ

เมื่อเยาวชนเหล่านั้นไม่สามารถเรียนต่อได้เพราะไม่มีเงินที่จะเรียนต่อ จึงต้องเริ่มสร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับเยาวชน เมื่อพิจารณาไปแล้ว คุณครูดวงแก้วพบว่าบริเวณพื้นที่รอบ ๆ โรงเรียนนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ โดยที่ไม่ต้องไปพึ่งพาหาซื้อให้สิ้นเปลืองเงินทองเลย ไม่ต้องมีเงินก็เก็บกินให้อิ่มท้องได้ แถมยังมีเหลือเพียงพอที่จะนำไปขายแบ่งปันให้ผู้อื่นด้วย และเยาวชนในพื้นที่ก็ยังไม่รู้ว่าในท้องถิ่นรอบ ๆ บ้านพวกเขานี้เต็มไปด้วยอาหารที่ไม่จำเป็นต้องไปซื้อให้สิ้นเปลือง

จากจุดนั้นทำให้คุณครูดวงแก้วน้อมนำแนวทาง วิถีพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นต้นแบบ ในการจัดตั้งชมรมแปรรูปอาหาร By ชายขอบของโรงเรียนคลองน้ำใสวิทยาคาร โดยคณะครูจะนำเด็ก ๆ ของโรงเรียนมาเข้าชมรม ซึ่งภายในชมรมจะมีการสอนให้เยาวชนได้รู้จักกับพืชผักที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่น มะระ ผักพรมมิ ผักไชยา โดยเฉพาะผักไชยาเป็นผักพื้นถิ่นที่มีประโยชน์มากมาย เป็นผักที่มีโปรตีนสูง เรียกว่าเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีที่มีราคาถูกมากเมื่อนำมาเทียบกับเนื้อสัตว์หรือพืชตระกูลถั่ว อีกทั้งในชุมชนมีการปลูกเป็นจำนวนมากด้วย เพียงแต่ผักชนิดนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักจึงไม่ค่อยมีคนนิยมรับประทาน

เมื่อสอนให้รู้จักพืชผักที่เป็นอาหารอันมีปลูกอยู่ในท้องถิ่นแล้ว ทางชมรมแปรรูปอาหาร By ชายขอบก็มีการแนะนำให้เยาวชนได้รู้จักวิธีการแปรรูปอาหาร โดยเริ่มต้นจากการนำผักท้องถิ่นเหล่านี้มาแปรรูปให้เกิดเมนูหลากหลายรูปแบบ อันจะช่วยทำให้คนที่ไม่กินผักและไม่ชอบผักกล้าที่จะเปิดใจมาลองกินผักมากขึ้น เยาวชนได้รับความรู้และสนุกสนานกันมากกับกิจกรรมของชมรม สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตของพวกเขาและเธอเริ่มมีเป้าหมาย

วันแห่งความปีติยินดี

ในเวลาต่อมา คุณครูดวงแก้วและคณะครูโรงเรียนคลองน้ำใสวิทยาคาร ก็ได้นำผลงานการแปรรูปอาหารของชมรมแปรรูปอาหาร By ชายขอบประกวดกิจกรรมศิลปะ-หัตถกรรมนักเรียนระดับประเทศ และไม่น่าเชื่อว่าผลงานการแปรรูปผักไชยาของทางชมรมสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากงานประกวดมาได้ นั่นทำให้คุณครูดวงแก้ว คณะครูและนักเรียนที่อยู่ในชมรมแปรรูปอาหาร By ชายขอบโรงเรียนคลองน้ำใสวิทยาคารต่างปีติยินดี มีกำลังใจและมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานต่อไป จนในปีถัดมาก็ส่งผลงานเข้าประกวดอีกครั้ง และก็ได้รางวัลชนะเลิศมาครองอีกเป็นปีที่ 2

รางวัลที่ยิ่งใหญ่

รางวัลที่ยิ่งใหญ่ของคุณครูดวงแก้วและคณะครูโรงเรียนคลองน้ำใสวิทยาคารได้ทำผ่านชมรมแปรรูปอาหาร By ชายขอบนี้ ไม่ใช่รางวัลชนะเลิศจากการประกวดผลงานของโรงเรียนระดับประเทศ แต่รางวัลที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดกลับเป็น “โอกาส” ที่ได้สร้างและมอบไว้ให้แก่เด็ก ๆ และเยาวชนของชาติ นี่คือความรู้ที่พวกเขาและเธอจะสามารถนำไปใช้พัฒนาเป็นอาชีพได้ จะทำให้เยาวชนเหล่านั้นพึ่งพาตนเองได้  สามารถนำความรู้เกี่ยวกับผักที่มีประโยชน์ไปใช้รับประทานเพื่อโภชนาการที่ดีทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น และเข้าใจถึงคำว่า “พอเพียง” ได้อย่างแท้จริง

และนี่คือหนึ่งผลิตภัณฑ์อันเป็นผลงานของชมรมแปรรูปอาหาร By ชายขอบ โรงเรียนคลองน้ำใสวิทยาคาร กับ ผงโรยข้าวจากผักไชยา ใครอยากรู้ว่ามีดีอย่างไรและรสชาติดีแค่ไหน คงต้องหามาลองกันแล้วล่ะ

Phongroi