ไวรัสโคโรน่าหรือ COVID-19 กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกไปแล้วในขณะนี้ และยังไม่มีใครทราบได้เลยว่า สถานการณ์จะไปถึงจุดสูงสุดเมื่อไหร่ นั่นทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะไปสิ้นสุดลงตรงไหน แต่ตอนนี้ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ต่างวิตกกังวลกับปัญหานี้อย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ข่าวลือต่างๆ ที่ประดังเข้ามาแล้วเป็นข่าวที่ไม่สู้ดีทั้งนั้น หลายๆธุรกิจที่เป็นปลายน้ำจากธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบกันหนักมาก จนทำให้ทั้งเจ้าของบริษัทและพนักงานต่างคิดไปไกลถึงอนาคตที่ไม่แน่นอนในตอนนี้ คำถามสำคัญในตอนนี้ก็คือ เราจะปรับธุรกิจรับมือวิกฤตนี้กันอย่างไร
มีคำแนะนำที่น่าสนใจที่เราไปเห็นอยู่ในบทความของ Harvard Business Review ในชื่อ Lead Your Business Through the Coronavirus Crisis ซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องบอกว่าน่าสนใจทีเดียว ทำให้เราได้ทบทวนและมองเหตุการณ์นี้ในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งนั่นก็คือ การเป็นบททดสอบความเป็นผู้นำในองค์กรธุรกิจ ในช่วงวิกฤตแบบนี้ เศรษฐกิจก็ดิ่งลงเรื่อย ๆ เช่นนี้ ผู้บริหารองค์กร เจ้าของธุรกิจ หัวหน้าทีม จะปรับธุรกิจรับมือวิกฤตนี้อย่างไร จะมีวิธีไหนที่จะทำให้ปรับกลยุทธ์ประคองธุรกิจไปได้บ้างมาดูกันว่าเขาแนะนำกันไว้อย่างไรบ้าง
ในสถานการณ์แบบนี้ข่าวสารคือสิ่งที่ต้องเกาะติด
วิกฤต COVID-19 นั้นเราจะเห็นว่ายังคงไม่นิ่ง สถานการณ์การติดเชื้อยังคงมีต่อเนื่องมาเรื่อยๆนั่นแปลว่าสถานการณ์ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การจะปรับธุรกิจเพื่อรับมือกับวิกฤตนี้ให้ได้ จึงต้องเริ่มจากการประเมินสถานการณ์ให้ถูกต้อง และจะประเมินได้ก็ต้องมีการติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด สิ่งที่ต้องระวังในเรื่องนี้มีอยู่ 2 ส่วนคือ
- Fake News
- ความวิตก
ทางแก้ก็คือ ติดตามข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ส่วนเมื่อทราบสถานการณ์แล้ว ก็พยายามอย่าไปวิตก เกาะติดไว้แต่อย่าตระหนกจนเกินไป วิธีการปฏิบัติสำหรับผู้นำองค์กรธุรกิจทั้งหลายก็คือ ควรมีการนัดประชุมทีมบ่อยขึ้น อาจจะนัดประชุมทุกเช้าก่อนเริ่มงานเพื่อสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบวันต่อวัน จะได้ปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจตนเองได้ทัน
สื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานในบริษัทให้มากขึ้น
การจะปรับธุรกิจการสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเวลาจะปรับเปลี่ยนอะไรก็ตามย่อมมีคนที่พร้อมและไม่พร้อมจะปรับ จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน รวมไปถึงจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการสื่อสารกันเองในแผนกหรือทีมย่อยของบริษัทด้วย เพราะเดี๋ยวนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อได้ง่าย และทุกคนก็เป็นสื่อเองได้ด้วย ฉะนั้น ข่าวลวง ข่าวปลอม ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากมีการส่งต่อไปเรื่อยๆจนกระจายไปทั้งบริษัท ผู้บริหารองค์กรจะพังทันที เพราะบางทีข่าวลืออาจกลายเป็นกระแสต่อต้านบริษัทจนไม่สามารถจะรับมือไหว จึงต้องมีการสื่อสารการให้มากขึ้นในสถานการณ์แห่งความสับสนนี้
กำหนดนโยบายให้ชัดเจนในสถานการณ์วิกฤต
ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์กระทบเศรษฐกิจ รวมไปถึงกระทบขวัญและกำลังใจพนักงานแบบนี้ ในฐานะผู้นำองค์กรมีหน้าที่ที่จะต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้น วิธีการปรับธุรกิจที่ดีในช่วงวิกฤตแบบนี้ ผู้นำจึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำนโยบายที่ชัดเจนออกมา เพื่อให้พนักงานรับรู้ว่ามีการปรับธุรกิจในเรื่องต่างๆเช่น
- ระเบียบการปฏิบัติงานนอกที่ทำงาน อย่างการให้ทำงานที่บ้านในช่วงระยะหนึ่ง หรือทำงานที่บ้านได้กี่วันใน 1 เดือน
- การปรับเรื่องเงินเดือนหรือสวัสดิการพนักงาน หากจะมีการปรับก็ต้องมีการแจ้งและสื่อสารให้ชัดเจนว่าปรับเพราะอะไรและทำไม
- การช่วยเหลือดูแลลูกค้ารายสำคัญขององค์กร ต้องดูเลยว่าลูกค้าได้รับผลกระทบไหม ถ้าได้รับผลกระทบแนวทางของบริษัทจะช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง
จำลองสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
บางบริษัทวิกฤตไวรัสโคโรน่าอาจจะไม่มากระทบกับบริษัทโดยตรง แต่ก็มากระทบทางอ้อมนั่นคือผลกระทบต่อลูกค้าของบริษัท ในเหตุการณ์แบบนี้ไม่ผิดที่ผู้นำองค์กรจะคิดถึงช่วงที่เลวร้ายที่สุดของธุรกิจ การจะปรับธุรกิจของตนเองให้รับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดหมายได้ ผู้นำก็ควรจะมีการจำลองช่วงเวลาแย่ที่สุดของบริษัทเอาไว้ด้วย ลองจำลองสถานการณ์เลวร้ายของบริษัทออกเป็นหลายๆทาง ดูว่าแต่ละแบบจะส่งผลกระทบอะไรกับบริษัทบ้าง และถ้าหากเกิดขึ้นจริง จะแก้ไขอย่างไร ต้องดำเนินการอย่างไร ต้องแจ้งอะไรใครบ้าง คิดเอาไว้ก่อนเพื่อจะได้วางแผนปรับธุรกิจรับมือได้ทัน
วิกฤตต้องมีวันจางหาย จึงต้องมีแผนฟื้นฟู
แม้ว่าการปรับธุรกิจเพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตนั้นสำคัญ แต่สิ่งที่ผู้บริหารจะต้องวางควบคู่กันไปด้วยในเวลาแบบนี้ก็คือ แผนฟื้นฟูธุรกิจหลังจากวิกฤตผ่านพ้นไป ถ้ามีการเตรียมแผนไว้ล่วงหน้า จะทำให้บริษัทก้าวรุดหน้าได้เร็วกว่าใคร ถึงจะไม่ได้เติบโตขึ้นแต่จะฟื้นตัวกลับเข้ามาสู่ภาวะปรกติได้เร็วกว่าใคร จึงเป็นอีกสิ่งที่ต้องเตรียมเอาไว้นั่นเอง
นี่เป็นเหมือนแนวคิดหรือวิธีการปรับตัว ปรับธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ค่อนข้างแย่ในเวลานี้ แน่นอนว่าบริษัท SME ต่างๆมีรายละเอียด เงื่อนไข และสายป่านที่ไม่เหมือนกัน ทุกอย่างจึงจะใช้ตายตัวไม่ได้ แต่ก็หวังว่าแนวคิดหรือวิธีการเหล่านี้จะพอเป็นเครื่องมือบางประการทำให้ผู้ประกอบการพอมองเห็นทางออกสำหรับธุรกิจตนเองมากขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งเราหวังว่าทุกท่านคงจะผ่านวิกฤตนี้ไปกันได้อย่างปลอดภัยและหวังว่าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เอาใจช่วยทุกๆท่านครับ