ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ทุกสำนัก ต่างกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์โควิดส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในระดับที่มากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะส่งผลแบบกว้างและลึก กระจายไปทั่วโลก และกินระยะเวลายาวนาน ถึงขนาดผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจหลาย ๆ ท่านให้ความเห็นเลยว่า ยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่ลึกกว่านั้นที่เรายังมองไม่เห็นซ่อนตัวอยู่ คำถามก็คือ สำหรับภาคธุรกิจ SMEs ที่ยังพอไปได้(แม้จะเหลือจำนวนอยู่ไม่มากนักก็ตาม) ควรจะต้องมีการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การตลาดรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่ลึกและซับซ้อนนี้อย่างไรดี จะมีแนวทางไหนที่จะช่วยให้ธุรกิจไปรอดและยืนระยะได้นานขึ้น ลองมาดูคำแนะนำกัน
สถานการณ์ของ SMEs ในวันนี้
เราคงไม่ต้องบอกว่าสถานการณ์ของ SMEs ย่ำแย่ขนาดไหน เพราะคงเห็นกันได้อยู่จากภาพของปัจจุบัน เรียกว่าสาหัสกันหลาย ๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยว สำหรับธุรกิจอื่นที่ยังคงไปได้ แม้จะต้องกะเผลกเดินไปก็ตาม ก็มีการปรับตัวหลายอย่าง รวมถึงการปรับกลยุทธ์การตลาดด้วย ภาพที่จะออกมาเหมือนกัน ๆ กันก็คือ
-
Lean – ลดต้นทุนธุรกิจและลดค่าใช้จ่ายในธุรกิจทุก ๆ อย่างลงเกือบจะ 100%
-
Tele – ตื่นตัวในเรื่องของการติดต่อสื่อสารทางไกลมากขึ้น ทั้งเรื่องของ Tele meeting, Teleconference บางบริษัทถือโอกาสนี้ยุบ Office ประจำไปเลยให้ทุกคนทำงานที่บ้านแบบถาวร
-
Diversification – ทุกคนไม่ว่าจะเป็นระดับหัวหน้าหรือลูกน้อง ต้องรับบทบาทมากขึ้น ทุกคนต้องรับภาระมากขึ้น ต้องหัด ต้องฝึกตนเองให้ทำงานได้มากกว่า 1 อย่าง ต้องเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น หรือบางคนต้องเปลี่ยนธุรกิจของเดิมไปทำของใหม่เลย
-
Contingency Plan – ทุกคนเริ่มให้ความสำคัญกับการมีแผนสำรองทางธุรกิจ และการบริหารความเสี่ยงภายใต้วิกฤต จากเดิมที่ไม่เคยมอง ตอนนี้ก็ต้องคิดแล้ว ส่วนใครที่คิดไว้ วิกฤตนี้ก็กลายเป็นบททดสอบเลยว่าแผนที่วางไว้ได้ผลหรือไม่
นี่คือ ภาพที่เกิดขึ้นกับ SMEs ในวันนี้ ซึ่งจะออกมาเหมือน ๆ กัน ทุกธุรกิจจะก้าวไปในแบบเดียวกันนี้ทั้งหมด ซึ่งใครที่ใช้ทั้ง 4 อย่างนี้แล้วยังเอาไม่อยู่ก็เป็นภาพของธุรกิจที่ล้มและเลิกกิจการไปอย่างที่เราเห็นในข่าวต่าง ๆ นั่นเอง
ปรับกลยุทธ์การตลาดรับมือรับมือความไม่แน่นอน
นอกจากการปรับตัวและภาพรวมของธุรกิจทั้งหมดแล้ว เราก็ต้องไม่ลืมว่าเรายังคงต้องเดินต่อไปบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคที่ยากลำบาก ฉะนั้น เราจึงต้องมีอาวุธหรือหรือเครื่องมือช่วยค้ำยันในการเดินทาง การจะนำพาธุรกิจให้ยังคงไปได้ในระยะนี้ กลยุทธ์การตลาดถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ เราจะมีแต่การปกป้องความเสี่ยงของธุรกิจไม่ได้ แต่ควรจะต้องมีวิธีการบริหารความไม่แน่นอนด้วย จึงจะทำให้เราเดินต่อไปแบบไม่ล้ม กลยุทธ์การตลาดจึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดต้องคำนึงถึงด้วยในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้
เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ยิ่งโควิดเข้ามาเป็นตัวกระตุ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคยิ่งเปลี่ยนเร็วอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกลยุทธ์การตลาดที่เราควรจะคำนึงถึงและควรนำมาปรับใช้ หากเราปรับใช้ได้มีดังนี้
-
กลยุทธ์การตลาดสร้างประสบการณ์ อาจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเป็นแบบ Virtual Marketing เข้ามาช่วยก็ได้ อย่างกลุ่มธุรกิจอสังหา ท่องเที่ยว หรือ Event ต่าง ๆ หากติดข้อจำกัดในเรื่องของการจัดงาน การไปสถานที่จริง การใช้เทคโนโลยีภาพเสมือนก็พอช่วยได้บ้าง หรือแม้กระทั่ง การทำคอนเทนต์ต่าง ๆ ก็อาจเปลี่ยนมาเป็นการทำคอนเทนต์แนว Storytelling ที่เข้าถึงง่ายขึ้นบ้างก็ได้ คือสร้างประสบการณ์การรับรู้และเข้าถึงแบบใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค
-
กลยุทธ์การตลาดเฉพาะบุคคล คุณอาจทำสินค้าเฉพาะลูกค้าคนใดคนหนึ่งเลยก็ได้ สร้างเรื่องราว หรือ Storytelling เรื่องราวของใครคนใดคนหนึ่งแบบเจาะจงลงไปเลยก็ได้ อะไรที่มีเพียงหนึ่งเดียวจะมีคุณค่าสูง อีกทั้งยุคโควิดแบบนี้คนเริ่มคิดถึงสินค้าที่ไม่ใช้ร่วมกับคนอื่นมากขึ้น
-
กลยุทธ์การตลาดแบบแบ่งปันสังคม เป็นกลยุทธ์ที่องค์กรธุรกิจใหญ่ชอบใช้ในระยะหลัง คือ แทนที่จะคิดเอาแต่ตัวเองรอด ก็เปลี่ยนเป็นมาคิดเพื่อการอยู่รอดร่วมกันของสังคม เพราะธุรกิจเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ได้สังคมดีมีความเข้มแข็งธุรกิจก็อยู่ได้ กลยุทธ์แนวนี้ก็เช่น สร้างนวัตกรรมหรือสินค้าใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิต อย่างแอปเตือนโซนที่มีความเสี่ยงการระบาดของไวรัส การสร้างหุ่นยนต์ไว้ใช้ในโรงพยาบาล อย่างนี้เป็นต้น
-
กลยุทธ์การตลาดด้านราคา ไม่ใช่แค่การลดแลกแจกแถมธรรมดา แต่ต้องเป็นการลดราคาที่เพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า ในสภาวะแบบนี้ ลูกค้าของเราก็มีรายได้ลดลงการทำให้พวกเขารู้สึกถึงความคุ้มค่าก็ช่วยดึงดูดให้เขามาเป็นลูกค้าของเราต่อเนื่องในระยะยาวได้
เศรษฐกิจยังคงจะต้องติดโควิดกันไปอีกระยะใหญ่ ๆ แม้จะมีวัคซีนแล้ว เศรษฐกิจก็ยังคงจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอยู่พอสมควร ผู้ประกอบการในวันนี้จึงไม่ควรยึดติดอยู่กับรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ควรจะปรับตัวให้ยืดหยุ่น มองหากลยุทธ์การตลาดใหม่ ๆ ที่นำมาปรับใช้ได้ สูตรความสำเร็จเดิมอาจไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ นั่นจะทำให้อยู่รอดและยืนระยะไปได้นานท่ามกลางวิกฤตแบบนี้นั่นเอง