จากช่วงที่โควิดระบาดหนักตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมาสินค้าประเภทที่เกี่ยวกับอนามัยและความสะอาดต่าง ๆ กลายเป็นสินค้าจำเป็นและมีความต้องการสูงมาก ผู้คนพากันกักตุนสินค้าเหล่านี้ ซึ่ง “กระดาษทิชชู” เองก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีความต้องการสูงด้วยเช่นกัน ในหลาย ๆ ประเทศประชาชนมีการซื้อกักตุนและในประเทศญี่ปุ่นเองก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน จนทำให้ทางการญี่ปุ่นต้องการมีการจำกัดจำนวนการซื้อกระดาษทิชชูในญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว
เมื่อมีการกักตุนจึงทำให้มีความกังวลว่าสินค้าจะมีไม่เพียงพอสำหรับทุก ๆ คน ยิ่งคนมีความกังวลยิ่งทำให้คนหามากักตุนเพิ่มขึ้น แต่ในทุกวิกฤตหากมองให้ดีก็มักจะมีโอกาสซ่อนอยู่ในนั้นเสมอ บริษัท Startup แห่งหนึ่งในญี่ปุ่นจึงมองเห็นโอกาสทางการตลาด พวกเขาจึงพัฒนาสินค้าที่เป็นกระดาษทิชชูจาก “เยื่อไผ่” ขึ้นมา ใช้กลยุทธ์การตลาดอีกเล็กน้อยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้คนด้วยการเพิ่มบริการส่งกระดาษทิชชูจากเยื่อไผ่นี้ถึงบ้านผู้ซื้อ ซึ่งก็กลายเป็นว่ากลยุทธ์การตลาดนี้ประสบความสำเร็จอย่างดีเลยทีเดียว
ใช้สิ่งใหม่แก้วิกฤตสิ่งเก่า
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องไปคิดค้นกระดาษทิชชูแบบใหม่ขึ้นมาด้วย ในเมื่อผลิตสินค้าแบบเดิมแล้วเพิ่มเติมการส่งถึงบ้านอย่างเดียวก็ได้ จริง ๆ จะทำเช่นนั้นก็ได้ แต่ก็มีเหตุผลที่ซ่อนอยู่ในนั้นเหมือน ประการแรกวิกฤตกระดาษทิชชูขาดตลาดในญี่ปุ่นนั้น มีที่มาอยู่ 2 เรื่องหลัก ๆ ก็คือ
- การระบาดของโควิดในจีน – อย่างที่เราทราบว่าโควิดมีการระบาดอย่างรุนแรงนั้นเริ่มต้นที่จีนก่อน ซึ่งจีนนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการผลิตกระดาษทิชชูส่งออกรายใหญ่ของโลก และญี่ปุ่นเองก็รับสินค้านี้มาจากจีนด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิดแบบนี้ทางจีนจึงต้องลดการผลิต ทำให้คนญี่ปุ่นเกรงว่าสินค้าจะเกิดการขาดตลาดนั่นเอง
- ความต้องการที่สูงมากขึ้น – สำหรับญี่ปุ่นแล้วนับเป็นประเทศที่มีการใช้กระดาษทิชชูสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก เรียกว่าเป็นประเทศที่ประชากรมีความต้องการสินค้าประเภทนี้สูงมากอยู่แล้วโดยปกติ ยิ่งพอมีวิกฤตจึงทำให้ความต้องการมีมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
จากสองปัจจัยนี้ก็ทำให้กระดาษทิชชูกลายเป็นสินค้าที่สำคัญขึ้นมามากกว่าเดิมหลายเท่าในญี่ปุ่น ประการต่อมากระแสเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องหนึ่งที่คนญี่ปุ่นเองก็ให้ความสนใจเป็นทุนเดิมอยู่เดิมอยู่แล้ว สินค้าอื่น ๆ อาจมีการนำมารีไซเคิลได้ แต่กระดาษทิชชูนั้นผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้งไป ไม่สามารถจะนำมารีไซเคิลได้ และอย่างที่เราทราบกันดีว่ากระดาษนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากไม้อีกที ซึ่งแน่นอนเลยว่าเรื่องนี้กระทบกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ บริษัท Startup โอคาเอริ ในญี่ปุ่นที่แต่เดิมพยายามผลักดันเรื่องผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว พวกเขาตระหนักถึงปัญหาเรื่องของปริมาณการใช้งานกระดาษทิชชูของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างดี จึงมองว่าจะหาทางพัฒนาสินค้าแบบใหม่ออกมา พร้อม ๆ กับการหากลยุทธ์การตลาดเพื่อนำสินค้าใหม่นี้มาตอบสนองความต้องการของคนญี่ปุ่น
ทำไมต้องเป็นกระดาษทิชชูเยื่อไผ่
บริษัท Startup โอคาเอริได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า พืชอย่างต้นไผ่นั้นใช้เวลาปลูกและเจริญเติบโตเพียงแค่ 3 ปี หากถูกตัดไปแล้วก็สามารถที่จะงอกได้เองจากหน่อเดิม และประโยชน์ของต้นไผ่ในแง่ของการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ก็ทำได้ดีกว่า ใบไม้ของพืชหลาย ๆ ชนิด คือเรียกว่าเป็นพืชที่มีวงจรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากเลยทีเดียว
ซึ่งย้อนกลับไปหลายปีก่อนได้มีบริษัทธุรกิจในญี่ปุ่นหลายรายได้ทำการศึกษาและลองผลิตกระดาษทิชชูจากเยื่อไผ่กันมาบ้างแล้ว 1 – 2 แห่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จในตลาด เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตในตอนนั้นยังไม่เอื้อ ทำให้การควบคุมคุณภาพสินค้านั้นทำได้ยากมาก ปริมาณการผลิตที่ออกมาจึงน้อยไม่สอดรับกับความต้องการ ไอเดียนี้จึงถูกพับไป Startup โอคาเอริมองเห็นสินค้าตัวนี้จริง ๆ แล้วมีศักยภาพที่ดีอตบโจทย์ได้ทั้งในแง่ความต้องการและเรื่องของสิ่งแวดล้อม พวกเขาจึงรับมาพัฒนาต่อ จึงเขาก็พบว่าที่จีนนั้นมีการปลูกไผ่จำนวนมากอยู่แล้ว และทางจีนเองก็มีเทคโนโลยีขั้นสูงในการวิจัยและพัฒนา จึงได้เข้าไปร่วมมือกับจีน
ท้ายที่สุดแล้ว การผลิตกระดาษทิชชูจากเยื่อไผ่ก็สำเร็จลุล่วง โดยที่ทุกขั้นตอน บริษัทโอคาเอริได้ลงไปควบคุมกำหนดมาตรฐานเองทั้งหมด ทุกกระบวลการผลิตจึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบสุด ๆ ไผ่ที่นำมาใช้ก็เป็นไผ่ที่ทางการจีนอนุญาตให้ใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานก็เป็นไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นจากพลังงานน้ำ เรียกว่าทุกอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง ๆ
จุดเด่นของกระดาษทิชชูจากเยื่อไผ่ของบริษัทโอคาเอรินั้น ก็อยู่ที่การย่อยสลายง่าย ไม่ก่อให้เกิดปัญหาขยะและไม่ทำให้ชักโครกอุดตัน ใน 1 กล่องนั้นจะมีกระดาษอยู่ 18 ม้วน 1 ม้วนก็จะมีความหนาถึง 3 ชั้นความยาวต่อม้วนจะอยู่ที่ 33 เมตร โดยถ้าคิดเป็นราคาเงินไทยก็จะอยู่ที่ 510 บาท/ 1กล่อง ซึ่งถ้ามองในสายตาของคนไทยแล้วก็คงจะราคาสูงทีเดียว แต่ถ้ามองกันในสายตาของคนญี่ปุ่นก็คงจะรู้สึกเฉย ๆ เพราะคนญี่ปุ่นมองลึกลงไปในรายละเอียดและคุณสมบัติของสินค้า จึงทำให้ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับความสนใจจากคนญี่ปุ่นทันทีที่วางจำหน่าย
แต่อย่างไรก็ดี บริษัทโอคาเอริเองก็คำนึงถึงกำลังซื้อของคนญี่ปุ่นด้วยในช่วงวิกฤตโควิด ที่กำลังซื้อของผู้คนอาจจะลดลง พวกเขาจึงมีการจัดโปรโมชันลดราคาสำหรับลูกค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์ เพื่อเป็นการรักษาระยะท่างทางสังคมไปในตัว ยิ่งทำให้สินค้าของพวกเขาติดตลาดง่ายขึ้น ความต้องการที่มากอยู่แล้ว สอดรับกับสินค้ามีความน่าสนใจจึงทำให้ติดตลาดได้ง่ายกว่าเดิมหลายเท่า
เสริมการขายด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบส่งรายเดือน
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของบริษัท Startup รายนี้ก็คือ พวกเขาได้นำกลยุทธ์การตลาดแบบ subscription มาใช้กับสินค้าของตนเอง ซึ่งก็ถือว่าแปลกดี เพราะปกติแล้วการสมัครสมาชิกแบบรายเดือนนั้น เรามักจะเห็นใช้กันในธุรกิจสื่อหรือคอนเทนต์ต่าง ๆ แต่นี่เป็นการนำมาใช้กับสินค้าประเภทกระดาษชำระ โดยทางบริษัทโอคาเอริได้มีการศึกษามาแล้วว่า ครอบครัวของคนญี่ปุ่นที่มีสมาชิกประมาณ 3 – 4 คน ปริมาณการใช้งานกระดาษชำระจะอยู่ที่ 1 กล่อง/เดือน พวกเขาจึงเปิดให้ลูกค้าสมัครเป็นสมาชิกและจะมีบริการจัดส่งสินค้าให้ในทุก ๆ เดือนเป็นประจำ หรือเดือนไหนลูกค้าต้องการสั่งซื้อเพิ่ม ก็สามารถทำได้อีกด้วย
ก็นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีในการทำธุรกิจในยุคนี้ที่มองหาโอกาสใหม่ในวิกฤตที่เกิดขึ้น อีกทั้งตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นกระดาษทิชชูจากเยื่อไผ่เองก็ถือว่าตอบโจทย์เทรนด์สิ่งแวดล้อมด้วย เป็นแนวคิดที่มาแบบยิ่งปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว เปิดตัวกันได้ถูกช่วงจังหวะเวลาและมีโอกาสที่จะไปได้ยาวอีกด้วย นับเป็นไอเดียที่น่าศึกษาจริง ๆ
อ้างอิง : asia.nikkei