นิตยสารทางวิชาการ Clinical Psychological Science ได้ตีพิมพ์การวิจัยที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตของวัยรุ่นจากทุกเชื้อชาติและชนชั้นในสหรัฐฯ ซึ่งพบว่าคนในเจเนเรชั่น iGen (คนที่เกิดหลังปี 1995) มีแนวโน้มที่จะสุขภาพจิตที่ย่ำแย่กว่าคนยุคมิลเลนเนียล อีกทั้งยังป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้นด้วย และปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่เป็นเช่นนี้ก็คือ สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย

     ต้องยอมรับว่าช่วงระยะ 10 ปีมานี้ โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก อินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของผู้คน และยิ่งเรื่องของโซเชียลมีเดีย ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะการเติบโตของโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook Instagram twitter  และ Line ทำให้คนรุ่นใหม่ถูกโซเชียลมีเดียเข้าครอบงำโดยไม่รู้ตัว สื่อเหล่านี้มีอิทธิพลทางความคิด มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ รวมถึงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเข้าสังคมของคนรุ่นใหม่ด้วย

     นักวิจัยได้มีการศึกษาและเก็บสถิติต่างๆ ในวัยรุ่นมาตั้งแต่ 2010 – 2015 ซึ่งจะการศึกษาในด้านสุขภาพจิตของวัยรุ่นพบว่าในช่วงปีดังกล่าวเป็นต้นมา วัยรุ่นในสหรัฐฯมีความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่าไร้ความหมายและใช้ชีวิตไปวันๆอย่างไม่มีความสุขนัก ซึ่งความรู้สึกและพฤติกรรมที่แสดงออกดังกล่าวนั้นตรงกันกับอาการเบื้องต้นของโรคซึมเศร้า ในงานวิจัยยังพบว่า วัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 และมีวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายมากขึ้นถึงร้อยละ 23 โดยจำนวนวัยรุ่นอายุ 13 – 18 ปีที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มมากถึงร้อยละ 31

     คำถามที่สำคัญก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับวัยรุ่นในอเมริกา เราพุ่งประเด็นไปที่เรื่องของสภาพสังคมกันก่อน ซึ่งเมื่อย้อนดูช่วงปี 2010 – 2015 เศรษฐกิจในอเมริกาจัดว่าค่อนข้างดี มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานก็ลดลง แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ยังคงมีอยู่สูง ซึ่งนั่นเป็นปัญหาที่นักวิจัยมองว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับอเมริกามานานแล้ว ผู้คนปรับตัวกับบริบทนี้อยู่ตลอดเวลา จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อวัยรุ่น เรื่องคุณภาพการศึกษา เรื่องของการบ้านและเวลาที่เด็กๆต้องใช้ทำการบ้านก็ไม่ได้แตกต่างปไปจากเดิมๆมากนัก โดยสรุปรวมแล้วนักวิจัยมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจและพฤติกรรมของวัยรุ่นสักเท่าไหร่

     แต่สิ่งที่นักวิจัยชี้ชัดว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อวัยรุ่นจริงๆก็คือ เรื่องของเทคโนโลยี สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดีย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ในช่วงปลายปี 2012 เด็กมากกว่าร้อยละ 50 มีสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนเดียวกับจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นและอัตราการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นด้วย จนปี 2015 วัยรุ่นที่เข้าถึงสมาร์ทโฟนได้มีถึงร้อยละ 73 คือกล่าวง่ายๆว่า เมื่อสมาร์ทโฟนเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น อัตราตัวเลขของวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็วทันที งานวิจัยยังพบว่า อาการซึมเศร้ายังแปรผันตามเวลาที่วัยรุ่นใช้อินเทอร์เน็ตด้วย โดยวัยรุ่นที่ใช้เวลาออนไลน์มากกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป มีแนวโน้มจะมีอาการซึมเศร้ามากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ และวัยรุ่นที่ออนไลน์มากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มจะมีอาการซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่ใช้เวลาออนไลน์เพียง 1 ชั่วโมงต่อวันถึงร้อยละ 71

     มีงานวิจัยอีก 2 ชิ้นที่ระบุถึงอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่ ที่กล่าวว่า การใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียมากเกินไปทำให้วัยรุ่นเริ่มรู้สึกไม่มีความสุขในชีวิต แต่ในขณะที่บางคนที่ไม่มีความสุขอยู่แล้วก็ไม่ได้มีความรู้สึกอยากใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นเลย ในงานวิจัยได้มีการทดลองกลับคนกลุ่มหนึ่งด้วย โดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยงดใช้โซเชียลมีเดียเป็นเวลา 1 สัปดาห์ อีกกลุ่มหนึ่งใช้โซเชียลมีเดียเป็นปกติ แต่เน้นไปที่ Facebook ผลปรากฎว่ากลุ่มที่งดใช้โซเชียลมีเดียมีความรู้สึกหดหู่ซึมเศร้าน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้เป็นปกติ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียมักจะนอนอได้น้อย บางทีก็นอนหลับไม่สนิท ซึ่งนั่นก็ย่อมส่งผลต่อสุขภาพจิตแน่นอน

     ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องถามหาความพอดีในการใช้เครื่องมือสื่อสารและสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งมาตรฐานความพอดีนั้น ยังไม่มีนักวิจัยไหนออกมาชี้ชัดแน่นอนว่าอะไรคือความพอดี ใช้แค่ไหนถึงเรียกว่าพอดีและไม่อันตราย บางทีการใช้น้อยๆก็ใช่ว่าจะช่วยได้ เพราะปัจจุบันสื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็นทีวี หรือโซเชียลมีเดีย ต่างก็นำแต่เรื่องแย่ๆมาขาย จนทำให้โลกของสื่อเต็มไปด้วยเรื่องที่ทำให้เราจิตตกได้อยู่เสมอ ลองสังเกตดูนะ วันหนึ่งลองนับดูว่าเราเห็นข่าวอาชญากรรม อุบัติเหตุ การด่าทอ การดูถูกเหยียดหยาม การอวดอ้างสรรพคุณของตนเองกันกี่ครั้ง ลองติ๊กในกระดาษดูเล่นๆก็ได้ ว่ามีเรื่องในด้านลบกี่เรื่อง มีเรื่องในด้านบวกกี่เรื่อง แล้วคุณจะรู้ว่า โลกออนไลน์จริงๆในวันนี้มันถึงจุดที่เรียกว่า “เสื่อม” แล้วจริงหรือไม่