กสทช. โดนจวกเละในวงเสวนา กรณีที่เข้าไปอุ้มช่วยเหลือ 2 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของไทย(AIS และ True) ทั้งๆที่มีกำไรมากมายอยู่แล้วและไม่ได้เดือดร้อนอะไรมาก พร้อมจี้บิ๊กป้อมและฐากรต้องรับผิดชอบหากประเทศเกิดความเสียหาย

     คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ม.44 อุ้มค่ายมือถือ :กสทช.-เอกชน มีเงินทอนหรือไม่” หนึ่งในผู้เข้าเสวนาในครั้งนี้คือ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม.กล่าวว่า กรณีที่กสทช. เสนอให้คสช. ขยายเวลาการชำระเงินงวดสุดท้ายของสองค่ายโทรศัพท์มือถือที่ประมูลคลื่นความถี่900เมกะเฮริทซ์ได้ มูลค่ารวม 120,000 ล้านบาท ในปี 2563 นั้น เป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะรัฐเสียประโยชน์ ขณะที่เอกชนได้ประโยชน์ เพราะสองบริษัท AIS และ True มีกำไรมากมายอยู่แล้วในแต่ละปี ซึ่งไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเข้าไปโอบอุ้มช่วยเหลือใดๆ อีกทั้งระบบการประมูลคลื่นความถี่แบบนี้ในต่างประเทศมีแต่จะเร่งให้ผู้ประมูลที่ชนะชำระเงินเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการไม่ชำระเงินและอาจจะมีการทิ้งคลื่น แต่ภาครัฐในบ้านเรากลับใช้ ม.44 ของคสช. มาใช้ในเรื่องนี้ ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้ง 2 กรณี คือ ทั้งการเข้าไปช่วยเหลือ 2 บริษัทใหญ่และการใช้มาตรา 44 ผิดวัตถุประสงค์ เพราะมาตรา 44 น่าจะใช้ในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ เพื่อสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ รวมทั้งแก้ปัญหาความสงบเรียบร้อยของชาติ ราชบัลลังก์ และราชการแผ่นดิน เท่านั้น ฉะนั้น ประเด็นนี้จึงมีความน่าสงสัยว่ารัฐมีผลประโยชน์อะไรกับทั้งสองบริษัทยักษ์ใหญ่นี้หรือไม่

     น.ส.รสนา โตสิตระกูล ยังชี้แจ้งอีกด้วยว่า เรื่องนี้มองไม่เห็นเหตุผลที่รัฐจะเข้าไปช่วยเหลือเพราะรัฐจะเสียประโยชน์แต่เอกชนจะได้ประโยชน์ ตามทีโออาร์ได้มีการเขียนไว้อยู่แล้ว และช่วงต้นกำหนดให้จ่ายค่างวดน้อยเพื่อนำเงินไปลงทุน และจ่ายปีสุดท้าย 60,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่จ่ายภายใน 15 วันต้องจ่ายดอกเบี้ย 15% ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน ขณะที่กสทช.จะคิดดอกเบี้ยกรณียืดชำระเพียง 1.5% เท่านั้น ที่ผ่านมา รัฐบาลช่วยคนจนกู้นอกระบบให้มากู้ธนาคารออมสิน จ่ายดอก 19% ต่อปี ผ่อนจ่ายไม่เกิน 5 ปี แต่จะมาช่วยนายทุนจ่ายดอกเบี้ยแค่ 1.5% โดยบริษัทมีมูลค่าการตลาดเป็นมูลค่าแสนล้านบาทจึงไม่มีเหตุที่จะช่วย น่าจะไปช่วยเหลือคนจนอันจะถูกต้องมากกว่าไปช่วยนายทุน

     ส่วนทางด้านน.ส.สุภิญญา ตัวแทนฝ่าย กสทช. ชี้แจ้งโต้กลับว่า ตอนนี้ปัญหาของบริษัท AIS และ True นั้นสอดไส้ไปด้วยปัญหาทีวีดิจิตอล คือทั้งสองส่วนเหมือนจะไม่เกี่ยวกันแต่จิรงๆแล้วมีความเกี่ยวข้องกัน ในส่วนทีวีดิจิตอลได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐทั้งกสทช.และคสช. จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ส่วนทางค่ายมือถือนั้นแม้ยังเห็นว่าไม่ได้เดือดร้อนอะไรก็จริง แต่ถ้าทาง กสทช. เข้าไปช่วยเหลือผ่อนปรนให้ทางทีวีดิจิตอล กลุ่มโทรคมนาคมคือค่ายมือถือต่างๆซึ่งก็มีความเกี่ยวข้องกับกสทช.ด้วยจะต้อง ออกโรงมาขอให้กสทช.ช่วยด้วยเช่นกัน คือ ช่วยทางนั้นก็ต้องมาช่วยทางนี้ด้วยจะได้ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ทาง กสทช. ก็ลำบากใจและยากที่จะจัดการเรื่องนี้ด้วยตัวเอง จึงต้องให้ทาง คสช. ยื่นมือเข้ามาช่วย

     อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อสรุปในวงเสวนาว่าจะหาทางออกเรื่องนี้กันอย่างไร แต่ที่แน่นอนก็คือในวงเสวนา ฝ่ายที่คัดค้านการช่วยเหลือสองบริษัทใหญ่ทั้ง AIS และ True ได้มีการกล่าวว่า หากไปพบภายหลังว่ารัฐสูญเสียโอกาสจากการนำรายได้เข้ารัฐ และ เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ได้มีการยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นคนแรก รวมถึงนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ด้วย