ยังไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่าเจ้าไวรัสจอมป่วนอย่างโควิดนั้นจะหมดไปเมื่อไหร่ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนรู้ก็คือ มันทำลายสภาพเศรษฐกิจของทั่วโลกจนบอบช้ำมาก ธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนมากได้รับผลกระทบหนัก และฉุดกำลังซื้อผู้บริโภคไปอย่างมากทีเดียว ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเองก็เช่นกัน แม้จะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันโดยตรงก็ตาม แต่ก็มีหลายหมวดสินค้าที่เจอภาวะถดถอยของตลาด ส่วนบางกลุ่มก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ทัน มาดูกันดีกว่าว่าพวกเขามีกลยุทธ์การตลาดอะไรที่ปรับให้สอดรับเทรนด์ New Normal กันบ้าง
สินค้าขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มกับภาวะถดถอย
คงจะเดากันได้ไม่ยากสำหรับสินค้าในกลุ่ม Snack & Beverage จากการสำรวจของ Kantar บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการทำวิจัยระดับโลก ที่มีการเข้ามาทำการสำรวจตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทยพบว่า กิจกรรมการใช้จ่ายของประชาชนลดการซื้อสินค้าในกลุ่มขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งลูกอม ขนมกรุบกรอบ หมากฝรั่ง ปลาเส้น สาหร่าย น้ำอัดลม โยเกิร์ตพร้อมดื่ม โดยกิจกรรมการซื้อลดลงกว่า 8 แสนครั้งในแต่ละวัน นั่นหมายความว่าตลาดในกลุ่มนี้ของไทยผู้บริโภคซื้อน้อยลงถึง 52% เลยทีเดียว
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการจึงพยายามใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Trade Up คือ การเพิ่มปริมาณของสินค้าและเพิ่มความหลากหลายในด้านรสชาติ โดยใช้กลยุทธ์การตลาดแบบนี้ในการจูงใจ ทำให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของผลิจภัณฑ์มากขึ้น
วิกฤตกลายเป็นโอกาสของ Functional Drinks
สินค้าประเภท Snack & Beverage เป็นวิกฤต แต่ในขณะที่กลุ่ม Functional Drinks (เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ผสม แนวสุขภาพ สมุนไพร วิตามิน)กลับกลายเป็นโอกาสอันดี ในการเปิดตลาด มีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นในช่วงโควิดมากมาย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นผู้เล่นรายเดิมที่เปลี่ยนตลาดมาทำตลาดใหม่ โดยอาศัยกลยุทธ์การตลาด “เกาะเทรนด์” ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ทราบดีว่า เทรนด์ผู้บริโภคในยุคนี้สนใจเรื่องสุขภาพกันมาก ยิ่งมีเรื่องโควิดเข้ามา ยิ่งใช้เป็นโอกาสในการผลักดันเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในง่ายมากขึ้น ช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้เกิดยอดซื้อเพิ่มขึ้นในตลาดกลุ่มนี้กว่า 50 ล้านครั้งเลยทีเดียว
ความสำเร็จของตลาดกลุ่ม Functional Drinks ก็คงต้องยกให้กับการใช้กลยุทธ์การตลาดที่สอดคล้องกับเทรนด์และเลือกที่จะผลิตสินค้าออกมาสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายเริ่มที่จะแข่งขันกันถึงเรื่อง Emotional Value คือไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วยประโยชน์เพียงด้านเดียว แต่พยายามดึงเอาประโยชน์ในเรื่องสุขภาพด้านอื่น ๆ เข้ามาประกอบ โดยเฉพาะเรื่องของ Low Sugar นับเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ตลาดนี้เติบโตได้เร็วมากขึ้นกว่าเดิม
ภาพของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคตรงนี้ สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าจะอยู่ในช่วงไหน มีวิกฤตหรือไม่ก็ตาม ถ้าวางกลยุทธ์การตลาดได้อย่างตรงเทรนด์ผู้บริโภค การผลิตสินค้าออกมาก็จะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน และถ้ายิ่งมีความสามารถในการสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจด้วยว่า เรากำลังจะขายอะไร สินค้าเราดีต่อพวกเขาอย่างไรบ้าง ก็จะยิ่งทำให้ได้เปรียบมากขึ้น มีโอกาสที่ผู้บริโภคจะชื่นชอบในสินค้าและกลับมาซื้ออีกเรื่อย ๆ ได้นั่นเอง