วันนี้เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ธุรกิจการค้าต่าง ๆ ของไทยเราต้องพึ่งพาจีนเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ที่วันนี้ไม่ว่าจะนำเข้าหรือส่งออกก็ตาม ตลาดจีนกลายเป็นที่พึ่งพิงของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในภาวะที่โลกยังคงไม่ปกติ ยังมีวิกฤตไวรัสโควิดอยู่แบบนี้ อะไร ๆ ก็ไม่รู้จะกลับมาเหมือนเดิมได้เมื่อไหร่ การเกาะติดอยู่กับตลาดจีนแบบนี้อาจทำให้ผู้ประกอบการหลายคนเจอปัญหาทำให้ธุรกิจก้าวไปต่อได้ยากเหมือนกัน แล้วเราควรจะยืนหยัดต่อไปอย่างไรดีในเมื่อทางเลือกนั้นมีน้อยเสียเหลือเกิน
ภาพรวมสถานการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2020
อีกไม่กี่เดือนก็จะสิ้นสุดปี 2020 ปีที่โหดสำหรับใครบางคนกันแล้ว ลองมาดูสถานการณ์ภาพรวมของตลาดอีคอมเมิร์ซในปีนี้กันดีกว่าว่ามีแนวโน้มและทิศทางอย่างไรบ้าง ทาง Statista ได้มีการสำรวจตลาดอีคอมเมิร์ซจากทั่วโลกพบว่าในปีนี้ คาดว่าแนวโน้มมูลค่าตลาดจะขึ้นไปแตะถึง 75 ล้านล้านบาท ซึ่งนั่นหมายความว่า ตลาดจะขยายตัวขึ้นไปราว ๆ 26% เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ
• มีผู้ประกอบการที่เข้ามาสู่ตลาดออนไลน์ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นมาถึง 3,468 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2019แล้ว คิดเป็นอัตรา 9.6% นั่นหมายถึงคู่แข่งในธุรกิจบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นเยอะมาก ซึ่งนั่นก็กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในการลงมาขายของออนไลน์
• หากมองเจาะลงมาเอาแค่ในภูมิภาคเอเชีย มูลค่าของตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียปีนี้ก็สูงถึง 45 ล้านล้านบาท ในเอเชียมีผู้ประกอบการเข้ามาสู่ตลาดออนไลน์ถึง 2,133 ล้านคน ซึ่งสัดส่วนคิดแล้วสูงถึง 61.5% ของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรวมทั่วโลก
• เจาะลึกลงมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการสำรวจพบว่าอีคอมเมิร์ซในอาเซียนเติบโตสูงขึ้นถึง 44%
ในตลาดอีคอมเมิร์ซของอาเซียนนั่นที่ดูจะเติบโตสุดก็คือ อินโดนีเซีย รองลงมาก็คือประเทศไทยเรานี่เองที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 2 แสนล้านบาท และผู้เชี่ยวชาญและนักการตลาดทุกสำนักยังเห็นตรงกันด้วยว่า อีคอมเมิร์ซในไทยยังมีโอกาสโตกว่านี้ได้อีกพอสมควร เพราะตอนนี้มีการงัดกลยุทธ์การตลาดทุกอย่างออกมาใช้ในช่องทางออนไลน์เยอะขึ้นกว่าเดิม จากปัจจัยที่คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น และราคาไม่แพงนัก แต่ถึงอย่างไรก็คงจะแซงอินโดนีเซียไม่ได้ภายในปีสองปีนี้แน่นอน
e-Marketplace จีนที่พักพิงใหญ่ของอีคอมเมิร์ซไทย
ETDA มีการให้ข้อมูลว่า e-Marketplace จากจีนอย่าง Lazada, Shopee, JD Central ได้เข้าครอบงำตลาดอีคอมเมิร์ซไทยไปมากกว่า 43% เรียกว่ามีอิทธิพลสูงต่อผู้ประกอบการของไทยเรามาก นอกนั้นก็จะเป็นการแชร์ออกไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ อย่างโซเชียลมีเดียทั้งหลายอีก 25% เป็นเว็บไซต์หรือช่องทางออนไลน์ที่ลงทุนสร้างเองอีก 24% และการใช้ Live Streaming เป็นช่องทางหลักสำหรับการขายอีก 8%
ซึ่งจากข้อมูลชุดนี้ยิ่งตอกย้ำให้เราได้เห็นภาพชัดเจนเลยว่า ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยพึ่งพาช่องทางการขายจากจีนเป็นหลัก เพราะมองว่าง่ายสุด มีความเป็นตลาดสำหรับซื้อขายมากที่สุด และที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยลงทุนกับกลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ ไปกับอะไรบ้าง เพราะเม็ดเงินที่ลงทุนกับการทำตลาดแท้จริง ไม่ได้เป็นการสร้างความเติบโตให้กับตนเอง แต่กำลังสร้างความเติบโตให้กับ e-Marketplace จีนหรือเปล่า
หากอีคอมเมิร์ซไทยจะลดการพึ่งพา e-Marketplace จีนเป็นไปได้ไหม
ถ้ามองสถานการณ์ที่ก้าวมาถึงตรงนี้แล้วก็บอกว่า “ยากมาก” แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องทำหากต้องการที่จะสลัด e-Marketplace จีนออกไปจากวงจรของธุรกิจตนเองให้ได้ก็คือ
• ต้องสร้างเทรนด์ ไม่ใช่ตามเทรนด์ – ลองมองตัวอย่างจากสิ่งที่เป็น Viral ในโลกออนไลน์มีหลายอย่างที่คนไทยสร้างกระแสขึ้นมาเอง จนกลายเป็นเทรนด์ที่ขยายไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งผู้ประกอบการก็สามารถลองนำไอเดียมาประยุกต์ใช้ได้ เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์ของลูกค้าคนไทยด้วยว่าสิ่งนั้นจะถูกจริตคนในสังคมไทยหรือเปล่า
• ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของลูกค้า มากกว่าเรื่องช่องทาง – พฤติกรรมของลูกค้าจะเป็นตัวบอกเองว่า คุณควรเลือกช่องทางไหนในการขาย ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย อย่างถ้าเป็นสินค้าใหม่ ๆ การเปิดตัวบน e-Marketplace ก็ถือว่าดี เพราะคนมักจะมาเสาะหาสินค้าใหม่ ๆ ผ่านช่องทางนี้ แต่ถ้าเป็นสินค้าที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วอาจใช้เป็นโซเชียลมีเดียอย่างเดียวก็ได้ ก็ต้องดูว่าลูกค้ารู้สึกอย่างไร มีพฤติกรรมอย่างไร
• อย่าให้ความสำคัญกับตัวเลขมากเกินไป – อยากให้โฟกัสไปที่รูปแบบมากกว่าเรื่องของตัวเลขยกตัวอย่างเรื่องของโควิด ถ้ามีระลอกสองคุณไม่ต้องรอเรื่องตัวเลขว่าจะติดมากติดน้อย แต่ให้จำรูปแบบของผลกระทบที่เกิดขึ้น ถ้าคุณดูรูปแบบการกระทบจะเห็นว่าสินค้าแฟชั่นจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่คนไม่ซื้อทันที ถ้าคุณเข้าใจแบบนี้คุณจะปรับตัวได้ทัน และจะทำให้ปรับกลยุทธ์การตลาดได้ดีนั่นเอง
เราไม่ปฏิเสธการที่ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะพึ่งพาจีน ในทางกลับกันยังคงมองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญอยู่ แต่บทเรียนจากโควิดคงพอจะทำให้เราเห็นบ้างแล้วว่า การพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก หากเรามีโอกาสที่จะยืนบนขาตัวเองได้ก็น่าจะลองดูสักตั้ง คุณคิดเหมือนกันไหมล่ะ